นอกจากการเจ็บป่วยที่เราต้องดูแลตัวเองเป็นพิเศษแล้ว การที่คุณแม่ตั้งครรภ์และกำลังมีลูกน้อยในท้อง ก็เป็นสิ่งที่ต้องได้รับการดูแลอย่างเป็นพิเศษเช่นกัน เพราะคุณแม่ๆ ต้องคอยตรวจสุขภาพ ไหนคุณหมอจะต้องนัดตรวจทั้งเรื่องการเปลี่ยนแปลง โรคภัยต่างๆ เพื่อให้คุณแม่และหนูน้อยในครรภ์คลอดออกมาได้อย่างปลอดภัยและถูกต้องนั่นเองค่ะ
ก่อนอื่นต้องเตรียมตัวไปฝากครรภ์กันก่อน
หลักเกณฑ์ในการเลือกสถานที่นั้นไม่ได้กำหนดเอาไว้ตายตัว แต่แม่ๆ สามารถเตรียมตัวและพิจารณาตามความเหมาะสมดังนี้
- เลือกสถานที่ใกล้และสะดวกที่สุด เผื่อมีเหตุฉุกเฉิน
- ฝากครรภ์กับคุณหมอที่แม่ๆ ไว้ใจ
- เลือกโรงพยาบาลตามงบประมาณที่เราสะดวก
แม่ๆ ตั้งครรภ์ต้องตรวจอะไรบ้างนะ?
แบ่งง่ายๆ ตามระยะเวลาการตั้งครรภ์ดังนี้
ช่วงตั้งครรภ์ – สัปดาห์ที่ 14
- ไปฝากท้องกับคุณหมอ ซึ่งจะตรวจปัสสาวะและเลือด เพื่อยืนยันการตั้งครรภ์
- ตรวจเลือดสำหรับฝากท้องครั้งที่ 1 เพื่อตรวจหาโรคเอดส์ กามโรค ไวรัสตับอักเสบบี-ซี หัดเยอรมัน และตรวจคัดกรองโรคเลือดธาลัสซีเมีย อีกทั้งยังคัดกรองความผิดปกติทางพันธุกรรมของทารกอีกด้วย
- ตรวจเช็คมะเร็งปากมดลูก
- อัลตราซาวด์/ตรวจคลื่นความถี่สูง เพื่อกำหนดอายุครรภ์ จำนวนทารก และภาวะตั้งครรภ์นอกมดลูก
- อัลตราซาวด์ความผิดปกติของทารกเบื้องต้น
สัปดาห์ที่ 15 – 28
- ตรวจคัดกรองโรคเบาหวานในคุณแม่ที่มีความเสี่ยง เพราะอาจทำให้เกิดความผิดปกติต่อทารกได้
- คุณแม่จะแนะนำให้ตรวจโครโมโซมทารกในครรภ์ เพื่อหาความเสี่ยงการเกิดกลุ่มอาการดาวน์หรือความผิดปกติของโครโมโซมอื่นที่สำคัญ
- อัลตราซาวด์เพื่อกำหนดเพศ และติดตามการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ต่อเนื่อง
- อัลตราซาวด์วัดความยาวปากมดลูก เพื่อทำนายการคลอดก่อนกำหนด
สัปดาห์ที่ 29 – 42
- ตรวจเลือดครั้งที่ 2 เพื่อดูโรคเอดส์ กามโรค ไวรัสตับอักเสบบีและความเข้มข้นของเลือด
- ตรวจคัดกรองการติดเชื้อแบคทีเรียในช่องคลอด และกระเพาะปัสสาวะ ซึ่งสามารถทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนจากการคลอดได้
- อัลตราซาวด์ตรวจสอบตำแหน่งของรก ท่าของเด็กและการเคลื่อนไหว เพื่อประเมินวิธีคลอด
- ตรวจฟังเสียงหัวใจทารกว่าเต้นได้ยินชัด เบา แรง เพื่อบอกสุขภาพและท่าของลูกน้อยได้
- ตรวจหาความเสี่ยงโรคสมองอักเสบจากการติดเชื้อท็อกโซพลาสมา (การปนเปื้อนจากอุจจาระแมวหรือเนื้อที่ปรุงไม่สุก)
- ตรวจประเมินความเสี่ยงของภาวะครรภ์เป็นพิษ
อ้างอิงจาก : cryoviva.com