Parents One

ข้อแนะนำ วิธีพูดกับลูกคนแรกอย่างไร เมื่อต้องมีลูกคนที่ 2

1. ให้เขามีส่วนร่วมตั้งแต่น้องอยู่ในท้องจนน้องคลอดออกมาแล้ว

ตอนที่รู้ว่าท้องเรนนี่ ตุ๊กจะให้จินมีส่วนร่วมตั้งแต่ไปหาหมอฝากครรภ์ เข้าไปดูอัลตราซาวด์ด้วยกัน ตลอดจนให้จินคอยหยิบวิตามินให้แม่ แต่ช่วงที่ท้องเรนนี่ ตุ๊กไม่สามารถอุ้มจินได้ตั้งแต่ท้องอ่อนๆ เพราะมีภาวะแท้งคุกคาม ตุ๊กเลยบอกจินเสมอว่า ถึงตอนนี้แม่จะอุ้มจินไม่ได้แต่เรายังทำขนมด้วยกันได้ ยังอ่านนิทานด้วยกันได้ ยังเล่นด้วยกันได้เหมือนเดิมนะ

พอน้องเริ่มดิ้น ตุ๊กก็จะให้เขามาจับที่ท้อง พูดคุยกับน้อง และบอกจินว่า เดี๋ยวพอแม่คลอดน้องออกมา จินก็จะไม่ต้องพูดกับน้องผ่านท้องของแม่แล้วนะ แต่น้องคงยังทำอะไรด้วยตัวเองได้ไม่คล่องเหมือนจิน ยังไงจินช่วยแม่ดูแลน้องด้วยนะคะ พอเรนนี่คลอดมาแล้ว ตุ๊กจะให้จินมีส่วนในการดูแลเรนนี่ด้วย เช่น ป้อนข้าวน้อง หยิบแพมเพิสให้น้อง ซึ่งตุ๊กว่าการให้เขามีส่วนร่วมและช่วยเหลือแม่และน้อง ทำให้เขาไม่รู้สึกว่าความสำคัญของเขาน้อยลงถึงแม่น้องจะเกิดมา

2. สอนให้เขารู้จักเห็นอกเห็นใจ

พอน้องเกิดมา ตุ๊กจะพูดให้จินฟังอยู่บ่อยๆ ว่า เวลาเรนนี่อึ ก้นเรนนี่จะเป็นผดและแดงแน่เลยถ้าแม่ไม่รีบเปลี่ยนแพมเพิสให้น้อง หรือ เรนนี่อยู่ในท้องแม่มาตั้งนาน น้องออกมาคงจะกลัวเลยอยากให้แม่อุ้ม แม่อุ้มน้อง น้องจะได้ไม่ร้องไห้นะจิน ซึ่งพอเราพูดให้เขารู้สึกเห็นอกเห็นใจน้อง การที่เขาจะอิจฉาหรือรู้สึกว่าแม่ไม่สนใจเขาก็จะมีน้อยลง ในทางกลับกัน จินจะเป็นฝ่ายให้แม่รีบไปเปลี่ยนแพมเพิสให้น้องและรีบอุ้มน้องเพราะกลัวน้องจะไม่สบายตัวและกลัวน้องจะเสียใจอีกด้วยค่ะ

3. ให้ลูกรับรู้ว่าถึงแม่มีน้องแต่เขายังคงสำคัญเสมอ


หลังจากที่เรนนี่เกิดมา มีหลายเหตุการณ์ที่ตุ๊กอาจทำไปโดยไม่ได้ตั้งใจหรือโดยไม่ได้รู้ตัว เลยทำให้จินรู้สึกน้อยใจ แต่การทำให้ลูกรู้สึกว่าตัวเองยังคงสำคัญ สามารถทำได้ง่ายๆ ยกตัวอย่างเช่น ตอนตุ๊กกำลังเตรียมขนมใส่กระเป๋าให้จินไปกินที่โรงเรียนอยู่ เรนนี่เหมือนโวยวายอยากจะให้แม่อุ้ม ตุ๊กเลยหันไปบอกเรนนี่ว่า แม่กำลังเตรียมขนมให้พี่จินเอาไปกินที่โรงเรียนพรุ่งนี้ เรนนี่รอแม่เตรียมให้พี่จินเสร็จก่อนนะแล้วเดี๋ยวแม่จะไปอุ้ม ซึ่งตอนนั้น เรนนี่ไม่ได้เข้าใจหรอกว่าตุ๊กพูดอะไร แต่อย่างน้อยจินจะรับรู้ได้ว่าเขามีความสำคัญ และน้องไม่จำเป็นต้องมาก่อนเสมอไป

4. เราควรแสดงออกอย่างเท่าเทียม

มีเพื่อนตุ๊กคนนึงเคยเล่าว่าตอนเด็กเคยน้อยใจแม่มาก ว่าทำไมชอบบอกว่าเป็นพี่ต้องเสียสละให้น้อง ทั้งๆ ที่ของเล่นชิ้นนั้นเป็นของเขา ซึ่งเรื่องนี้ทำให้ตุ๊กคิดได้ว่า วิธีที่เราพูดกับลูกหรือการแสดงออกของเรา มีผลต่อจิตใจคนโตที่รู้เรื่องแล้วเป็นอย่างมาก แทนที่เราจะบอกให้คนโตต้องรู้จักเสียสละให้น้อง แต่หันมาถามความเห็นของคนโตก่อน

ยกตัวอย่างเช่น จินแบ่งของเล่นให้เรนนี่ได้ไหม ถ้าเขายังไม่พร้อมก็ไม่ต้องไปบังคับว่ากล่าวอะไร หรือตอนที่เรนนี่เข้าไปแย่งของเล่นมาจากมือจิน ตุ๊กก็จะบอกเรนนี่ว่า แย่งของออกมาจากมือพี่จินแบบนี้ไม่ได้นะคะ ซึ่งเรนนี่ยังเล็กมากไม่ได้เข้าใจในสิ่งที่ตุ๊กพูด แต่สำหรับจิน เขาจะรู้สึกได้ว่าแม่ปฏิบัติกับเขาและน้องอย่างเท่าเทียม ตรงนี้แหละที่ตุ๊กคิดว่าเป็นสิ่งที่สำคัญ

5. ฝึกให้พี่ดูแลน้อง

ถึงจินจะยังเด็กอยู่ แต่ตุ๊กจะสอนให้เขารู้จักดูแลน้องตามสิ่งที่เขาพอจะทำได้ในวัยของเขา เช่น ช่วยป้อนข้าว ช่วยใส่ถุงเท้าให้น้อง และจะชมเขาทุกครั้งที่จินช่วยดูแลเรนนี่ ซึ่งตุ๊กเชื่อว่าการที่พี่น้องรู้จักดูแลซึ่งกันและกันตั้งแต่ยังเล็ก จะช่วยให้เขารักและผูกพันกันไปจนโต

6. ปรึกษาและรับฟังความเห็นของเขา


ส่วนใหญ่ตุ๊กจะหาโอกาสปรึกษาจินในหลายๆ เรื่องที่เกี่ยวกับเรนนี่ เช่น จินมาช่วยแม่เลือกเสื้อผ้าให้เรนนี่ได้ไหม มีของเล่นชิ้นไหนของจินที่จินไม่เอาแล้วที่อยากจะให้น้องบ้างไหม เมนูวันนี้เราทำอะไรให้เรนนี่กินกันดี การที่เราปรึกษาคนโตก่อน จะช่วยให้เขารู้สึกว่าความคิดเห็นของเขายังมีความสำคัญต่อแม่และต่อตัวน้องด้วย

7. หาเวลาอยู่กับคนโตอย่างเต็มที่

เมื่อไหร่ที่มีโอกาส ตุ๊กจะฝากเรนนี่ไว้กับยายและหาเวลามาเล่นกับจินแบบเต็มที่ไปเลย เพื่อจินจะได้รู้สึกว่าการที่เขามีน้อง แม่ไม่ได้ลืมที่จะใช้เวลาอยู่กับเขา และแทนที่เขาจะรู้สึกถูกแย่งความรักไปหรืออิจฉาน้อง จินกลับอยากให้เรนนี่มาเล่นด้วยพร้อมกันเสมอเลยค่ะ