“ภาวะครรภ์เป็นพิษ” เป็นอีกหนึ่งภาวะผิดปกติที่คุณแม่หลายท่านต้องเผชิญขณะตั้งครรภ์ จากข้อมูลระบุว่าจากคุณแม่ 100 คน จะมีคุณแม่ที่ครรภ์เป็นพิษถึง 4 คนเลยทีเดียว ซ้ำแล้วยังเป็นภาวะผิดปกติที่มักไม่ค่อยแสดงอาการ และปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด มีทางรักษาเดียวคือ การคลอดเจ้าตัวเล็กให้รวดเร็วที่สุด ไม่เช่นนั้นอาจเป็นอันตรายกับทั้งคุณแม่และคุณลูก เรียกว่าเป็นภัยเงียบที่ประมาทไม่ได้
วันนี้ทาง Parents One ได้รวบรวมข้อมูลเบื้องต้น ลักษณะอาการและปัจจัยเสี่ยงของภาวะครรภ์เป็นพิษ เพื่อให้เหล่าคุณแม่ตั้งครรภ์ได้สังเกตตนเอง พร้อมรับมือสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นได้โดยไม่คาดคิด เพราะรู้เร็วรู้ก่อนก็จะช่วยทุเลาความรุนแรงของโรค และสามารถแก้ไขได้ทันท่วงที
ภาวะครรภ์เป็นพิษ คือ ภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นช่วงตั้งครรภ์ มักจะเกิดกับคุณแม่ที่มีอายุครรภ์ 20 สัปดาห์ขึ้นไป โดยคุณแม่จะมีความดันโลหิตสูงกว่า 140/90 mmHg (มิลลิเมตรปรอท) และอาจมีภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ ตามมา ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุแน่ชัดแต่มีการตั้งสมมติฐานว่า เกิดจากรกฝังตัวผิดปกติ ส่งผลให้รกบางส่วนขาดออกซิเจน ขาดเลือด เมื่อเลือดไปเลี้ยงรกน้อยก็จะเกิดการหลั่งสารพิษบางอย่างกลับเข้าสู่กระแสเลือดของแม่
อาการของภาวะครรภ์เป็นพิษ
- ความดันโลหิตสูง สูงกว่า 140/90 mmHg
- มือ เท้า หน้าบวม
- น้ำหนักเพิ่มขึ้นผิดปกติ
- ปวดศีรษะรุนแรง
- คลื่นไส้ อาเจียน
- ตาพร่ามัว
- จุกแน่นหน้าอก
- ตรวจพบโปรตีนในปัสสาวะ
นอกจากคุณแม่แล้ว ทางด้านทารกในครรภ์เองก็จะเติบโตช้ากว่าปกติ ตัวเล็ก มีน้ำคร่ำน้อย และไม่ค่อยดิ้น ไม่ค่อยเคลื่อนไหว
ระดับอาการ
ภาวะครรภ์เป็นพิษมีความรุนแรงหลายระดับ จำแนกออกมาได้ดังนี้
ระดับไม่รุนแรง (Non – Severe Pre – Eclampsia)
- ความดันสูงกว่า 140/90 mmHg แต่ไม่เกิน 160/110 mmHg
- ไม่พบภาวะแทรกซ้อน
ระดับรุนแรง (Severe Pre – Eclampsia)
- ความดันสูงกว่า 160/110 mmHg
- อวัยวะทำงานผิดปกติ เช่น ตับอักเสบ เกล็ดเลือดต่ำ เม็ดเลือดแดงแตก
ระดับรุนแรง-มีภาวะชัก (Eclampsia)
- ชัก เกร็ง หมดสติ
- อาจมีเลือดออกในสมอง
- ควรเข้ารับการรักษาอย่างเร่งด่วน เพราะอาจร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิตทั้งแม่และลูก
ปัจจัยเสี่ยงต่อภาวะครรภ์เป็นพิษ
- คุณแม่มีอายุน้อยกว่า 20 ปี หรือมากกว่า 35 ปี
- โรคประจำตัว เช่น เบาหวาน โรคอ้วน ความดัน
- การตั้งครรภ์แฝด
- การตั้งครรภ์ครั้งแรก
- เป็นผู้มีบุตรยาก
- คนในครอบครัวมีประวัติครรภ์เป็นพิษ
วิธีป้องกันครรภ์เป็นพิษ
ปัจจุบันยังไม่สามารถป้องกันการเกิดภาวะครรภ์เป็นพิษได้ 100% แต่คุณแม่ควรดูแลตัวเองเพื่อลดความเสี่ยงครรภ์เป็นพิษ ด้วยการดูแลสุขภาพร่างกาย พักผ่อนให้เพียงพอ ดื่มน้ำวันละ 8 แก้ว ออกกำลังกายสม่ำเสมอ (แนะนำเป็นกิจกรรมที่เหมาะกับคุณแม่ท้องโดยเฉพาะ) หลีกเลี่ยงของมัน ของทอด และงดสูบบุหรี่ งดดื่มแอลกอฮอล์
สำคัญที่สุดคือเมื่อรู้ว่าตั้งครรภ์ควรดำเนินการฝากครรภ์ทันที และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด เพราะคุณแม่แต่ละท่านมีพื้นฐานร่างกายและอาการของโรคที่แตกต่างกันไป การพบแพทย์อย่างสม่ำเสมอจึงถือเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการรับมือกับภาวะครรภ์เป็นพิษ
ในช่วงที่กำลังอุ้มท้องเจ้าตัวเล็ก แน่นอนว่าคุณแม่ย่อมมีความกังวลใจมากมายไปหมด สิ่งที่ทำได้คือเตรียมตัวให้พร้อมรับทุกสถานการณ์ที่เกิดขึ้นด้วยใจเข้มแข็ง คอยดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง หมั่นสังเกตอาการและอย่านิ่งเฉยกับความผิดปกติเล็กน้อย เพราะหากปล่อยทิ้งไว้อาการอาจยิ่งทวีความรุนแรง กว่าที่จะรู้ตัวอาจสายเกินแก้ไขแล้วก็เป็นได้
สุดท้ายนี้ Parents One ขอส่งกำลังใจและความห่วงใยให้คุณแม่ทุกท่านผ่านพ้นช่วงเวลาแห่งการรอคอยไปได้ด้วยดี แข็งแรงทั้งกายใจพร้อมจะพบเจ้าตัวน้อยด้วยรอยยิ้มนะคะ
อ้างอิง