อาการภาวะซึมเศร้าหลังคลอด หรือที่เราเรียกกันว่า Baby blue นั้น มักเกิดกับคุณแม่มือใหม่ ที่ไม่เคยเลี้ยงลูกน้อย ส่วนใหญ่จะมีอาการซึมเศร้า วิตกกังวลใจเกี่ยวกับการเลี้ยงลูกประมาณ 2 – 5 วันแรกหลังคลอด หรือไม่เกิน 2 สัปดาห์ แต่หากใช้เวลานานกว่านั้น ควรปรึกษาแพทย์ เพื่อเข้ารับการรักษาตามอาการได้ทันท่วงที ถ้าอยากรู้ว่าตอนนี้เราเข้าข่ายเสี่ยงอยู่หรือเปล่าก็มาลองทำความรู้จักกับภาวะซึมเศร้าหลังคลอดกันเถอะค่ะ
อาการแบบไหนถึงเรียกว่าซึมเศร้าหลังคลอด ?
คุณแม่ที่ตกอยู่ในภาวะซึมเศร้าหลังคลอดจะมีอาการที่แตกต่างกันไป แต่ส่วนใหญ่จะมีอาการสำคัญ เช่น มีอารมณ์เศร้าอย่างมาก ร้องไห้โดยไม่รู้สาเหตุ รู้สึกไม่มีเรี่ยวแรง วิตกกังวล หงุดหงิด การนอนผิดปกติ (เช่น นอนไม่หลับ หรือนอนมากผิดปกติ) การกินผิดปกติ (เช่น กินไม่ลง หรือกินไม่หยุด) หรือกลัวว่าจะเลี้ยงลูกไม่ได้และเป็นแม่ที่ไม่ดีพอ ในบางครั้งอาจจะเกิดความรู้สึกที่ไม่ดีต่อลูกของตนเอง ทั้งขาดความสนใจและรู้สึกอยากจะตัดขาดลูก หรือในกรณีที่ร้ายแรงที่สุดคือมีความคิดที่จะทำร้ายลูก
ภาวะซึมเศร้าหลังคลอดมีกี่ระดับ ?
ภาวะซึมเศร้าหลังคลอดแบ่งได้เป็น 3 ระดับ คือ
- ภาวะซึมเศร้าหลังคลอด
- โรคซึมเศร้า
- โรคจิตหลังคลอด
สาเหตุเกิดจากอะไร ?
- เกิดจากฮอร์โมนที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว
- มีความกังวลใจตั้งแต่ตั้งครรภ์ หรืออาจจะเคยมีประวัติการแท้งบุตร / การคลอดลูกก่อนกำหนด ทำให้วิตกกังวลมากกว่าปกติ
- เลี้ยงลูกคนเดียว ไม่รู้ว่าลูกร้องไห้แบบนี้แล้วต้องทำอย่างไร บางรายก็รู้สึกเหนื่อยที่ต้องดูแลลูกคนเดียวแทบจะ 24 ชั่วโมง
- มีความกังวลใจ เช่น ไม่มีน้ำนม หรือมีปัญหาด้านการเงิน การงาน ความสัมพันธ์ในครอบครัว
- ขาดความมั่นใจในตัวเอง ด้วยรูปร่างที่เปลี่ยนแปลงไป หน้าท้องแตกลาย จึงกลัวสามีจะไม่รัก
เกิดผลกระทบอะไรกับคนรอบข้าง ?
- ลูกไม่ได้รับความรัก ความเอาใจใส่จากคุณแม่เท่าที่ควร
- สามีและคนในครอบครัวรู้สึกกังวลใจ อยากช่วยแต่ก็ไม่รู้ว่าจะช่วยอย่างไรดี
แนวทางการแก้ไขควรเป็นอย่างไร ?
- ควรคิดถึงลูกให้มากๆ แม้ว่าเด็กบางคนจะเกิดมาในช่วงที่คุณแม่ไม่พร้อม หรือเมื่อตั้งท้องแล้ว คุณพ่อ คุณแม่หย่าร้างกัน แต่เมื่อมีชีวิตน้อยๆ มาอยู่กับเราแล้ว เขาคือของขวัญที่ดีที่สุด
- เล่าอาการให้คนใกล้ชิดกัน อย่าเก็บไว้ หรือคิดว่าเดี๋ยวอาการเหล่านี้จะหายไปเอง การบอกสามี และคนใกล้ชิดฟัง จะช่วยให้คุณได้ระบายออก และคนรอบข้างก็เข้าใจสภาวะที่คุณเป็นอยู่
- พักผ่อนให้เพียงพอ
- ออกกำลังกาย และเอาใจใส่รูปร่างตัวเอง
- ทานอาหารที่มีประโยชน์
- หากิจกรรมคลายความเครียด เช่น
- อ่านนิยาย / ดูรายการตลก / ดูซีรีย์เกาหลี
- เย็บตุ๊กตา ปลอกหมอน เสื้อผ้าให้ลูกใส่ หากเรามีฝีมือทางด้านเย็บปักถักร้อย อาจนำไปต่อยอดสร้างรายได้ในอนาคต
- วาดรูป – ระบายสี ไม่ต้องกังวลว่าจะสวยหรือไม่ แค่ให้จิตใจผ่อนคลายก็พอ
- ปลูกต้นไม้ การได้เห็นสีเขียวๆ หรือการเจริญเติบโตของผัก หรือต้นไม้ที่ปลูกไว้ ก็ทำใจให้เราเย็นลง
- หัดทำสิ่งที่ไม่เคยทำ เช่น ทำกับข้าว โดยเฉพาะคุณแม่ที่น้ำนมน้อย จะได้ทำเมนูเรียกน้ำนมให้ตัวเอง และเป็นการฝึกทำอาหาร ก่อนที่จะอาหารให้ลูกหม่ำในอนาคต
- อ่านหนังสือ หรือสื่อเกี่ยวกับภาวะซึมเศร้าหลังคลอด เพื่อจะได้มีความรู้เบื้องต้นในการดูแลตนเอง
คนรอบข้างจะช่วยเหลืออย่างไรได้บ้าง ?
- รับฟัง และให้กำลังใจ
- แบ่งหน้าที่ให้คุณพ่อบ้านช่วยบ้าง เช่น การล้างจาน ทำความสะอาดบ้าน เล่นกับลูก หรืออ่านนิทานให้ลูกน้อยฟัง เพื่อให้คุณแม่มีเวลาพักมากขึ้น
- คอยสังเกตอาการของคุณแม่ ถ้าเห็นว่าหงุดหงิดมากไป หรือมีภาวะซึมเศร้านานเกินไปแล้ว ควรชวนไปพบแพทย์
แม้โรคซึมเศร้าจะหายเองได้ แต่อย่าปล่อยทิ้งไว้ ควรรักรักษาตัวให้หาย แล้วกลับมาให้ความรัก ความอบอุ่นกับลูกน้อยจะดีกว่าค่ะ