เคยสังเกตไหมว่า ลูกเราเคยมีผื่นแดงอมชมพูขึ้นตรงผิวหนังบ้างหรือไม่? บางครั้งผื่นแดงก็ขึ้นรอบตัวจนน่ากลัว แถมมีอาการคัน ระคายเคืองผิว และมีไข้ผสมกันไปด้วย เราไปทำความรู้จักแบบล้วงลึกเกี่ยวกับ “โรคผื่นกุหลาบ” โรคผื่นแพ้ยอดฮิตที่ลูกชอบเป็นตอนฤดูฝนกันดีกว่าค่ะ
“ผื่นกุหลาบ” คือโรคอะไร?
“ผื่นกุหลาบ” (Pityriasis Rosea หรือ PR) หรือ “ส่าไข้” ที่เรามักจะได้ยินกันบ่อยๆ เป็นโรคผิวหนังอักเสบชนิดหนึ่ง ซึ่งมีอาการเป็นผื่นเฉียบพลัน แต่ไม่อันตราย และไม่ทำให้เสียชีวิต
แต่คุณพ่อคุณแม่ไม่ต้องตกใจไปค่ะ เพราะโรคนี้สามารถหายเองได้ แต่เด็กบางคนอาจนานประมาณ 3 – 4 เดือน ทำให้โรคนี้มีอีกชื่อเรียกอีกอย่างว่า “โรคผื่นร้อยวัน” และเมื่อเป็นแล้ว มักจะไม่กลับมาเป็นซ้ำอีก
ซึ่งเชื้อไวรัสนี้พบได้บ่อยในทุกเพศทุกวัย เริ่มตั้งแต่วัยเด็กไปจนถึงวัยผู้ใหญ่ตอนต้น และยิ่งพบได้มากในเด็กเล็กๆ เคยมีรายงานว่าเคยพบโรคนี้ในทารกที่อายุเพียง 3 เดือนเท่านั้น ผื่นกุหลาบจึงเป็นโรคที่คุณแม่มือใหม่ไม่ควรมองข้าม โดยเฉพาะในฤดูฝน เพราะมักจะมีการระบาดมากกว่าปกติค่ะ
อาการของโรค “ผื่นกุหลาบ”
-
ลูกอาจมีไข้สูงแบบเฉียบพลัน หลังจากนั้นจะมีผื่นแดงขึ้นตามผิวหนัง
ผื่นมีลักษณะเป็นวงรี หรือวงกลมรูปไข่ ส่วนมากจะเป็นสีชมพูอมแดง, สีชมพู หรือสีส้ม ซึ่งคล้ายกับสีของดอกกุหลาบนั่นเอง ตรงกลางของผื่นจะมีลักษณะย่น มักจะขึ้นตามตัว แล้วค่อยกระจายเป็นรูปต้นสนลามไปทั่วผิวหนัง จากนั้นก็จะหายเอง
โรคนี้พบได้มากในทารกและเด็กเล็ก แต่ที่น่ากลัว คือ เด็กอาจจะมีไข้สูงเฉียบพลัน ทั้งๆ ที่เด็กยังมีอาการเป็นปกติทุกอย่าง ทำให้คุณพ่อคุณแม่ส่วนมากไม่ทันระวังจนไข้ขึ้นสูง และมีอาการแทรกซ้อนอื่นๆ ตามมาได้
สาเหตุของโรค “ผื่นกุหลาบ”
โรคผื่นกุหลาบ มักเกิดมาจากหลายสาเหตุด้วยกัน เช่น
- เกิดจากเชื้อไวัส HHV-6 และ HHV-7 ที่อยู่ในน้ำลาย และเสมหะ
ซึ่งแพร่กระจายได้โดยการไอ จาม และการสัมผัสทั้งทางตรง และทางอ้อม เช่น เล่นตบแปะกัน หรือจะเล่นของเล่นที่มีเชื้อไวรัสอยู่ แล้วเอามือมาขยี้ตา แคะจมูก หรือเอาเข้าปากก็สามารถติดเชื้อได้เช่นกัน
- ของใช้เด็กไม่สะอาด
ของใช้ รวมทั้งของเล่นเด็ก มักจะมีเชื้อโรคและเชื้อไวรัส ซึ่งอาจจะมาจากน้ำลายของเด็กที่ชอบกัดสิ่งของ แล้วคุณพ่อคุณแม่ไม่ได้ทำความสะอาดให้ดีหลังลูกเล่นเสร็จ ทำให้เกิดจากสะสมของเชื้อโรคและเชื้อไวรัสต่างๆ ทำให้เกิดดเป็น “ผื่นกุหลาบ” ได้
- ไม่ได้แยกของใช้สำหรับเด็กอ่อน และผู้ใหญ่ออกจากกัน
เช่น แก้วน้ำ, ช้อนซ้อม, เสื้อผ้า เป็นต้น
การรักษา โรค “ผื่นกุหลาบ”
- ห้ามกินยาแอสไพริน
หากลูกมีอาการปวดหัว หรือเป็นไข้ ควรให้ลูกดื่มน้ำมากๆ หรือใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดตัว แล้วทานยาพาราเซตามอลแทน แต่ห้ามให้ลูกกินยาแอสไพรินโดยเด็ดขาด
- นอนหลับให้เพียงพอ
พาลูกนอนหลับให้เพียงพอ จะได้ไม่เกิดความเครียด เพื่อให้ร่างกายได้ซ่อมแซม และฟื้นตัวอย่างสมบูรณ์
- ทาแป้ง ป้องกันอาการคัน
เมื่อลูกเกิดอาการระคายเคืองผิว หรือมีอาการคันที่ผื่นเล็กน้อย ไม่ควรให้ลูกเกา เพราะอาจเกิดรอยแผลได้ ควรให้ลูกทาแป้งมากกว่า
- ไม่อาบน้ำอุ่นให้ลูกน้อย
เพราะอาจเป็นการกระตุ้นผื่นให้เกิดขึ้นมาอีกมากกว่าเดิมได้
วิธีป้องกัน หากไม่อยากเป็น “ผื่นกุหลาบ”
- ห้ามใช้ของร่วมกัน
ถ้ามีคนในบ้านเป็นผื่นกุหลาบ ควรแยกของใช้ทุกชนิด ไม่ให้ใช้ของด้วยกัน
- แยกผู้ป่วยให้ออกห่างจากเด็ก
เช่น ไม่ให้เด็กทานอาหารอาหารร่วมกับผู้ป่วยที่เป็นโรคผื่นกุหลาบเด็ดขาด เป็นต้น
- ดูแลรักษาความสะอาดร่างกาย
การพาลูกล้างมือบ่อยๆ ไม่เอามือเข้าปาก รวมทั้งไม่ไปแคะจมูก หรือขยี้ตา จะช่วยป้องกันการติดเชื้อจากโรค “ผื่นกุหลาบ” ได้มาก
- ใช้ของที่ไม่ระคายเคืองผิวลูกน้อย
เป็นอย่างไรกันบ้างคะกับโรคผื่นกุหลาบที่ลูกๆ อาจจะเคยเป็นกันมาก่อน แต่เรานึกว่าเป็นแค่ผื่นคันธรรมดา เพราะมันสามารถหายเองได้ แต่ต้องใช้เวลาในการเยียวยา และต้องหมั่นดูแลรักษาความสะอาดทั้งร่างกาย และข้าวของเครื่องใช้ รวมทั้งของเล่นที่ลูกมักจะชอบเอาเข้าปากอยู่เสมอด้วย เพราะจะช่วยลดความเสี่ยงที่ลูกจะเกิดโรคผื่นกุหลาบได้เป็นอย่างดีเลยค่ะ
ขอบคุณแหล่งอ้างอิง
www.mamaexpert.com
www.care.co.th
www.reiscare.com
www.bangpakokhospital.com