เคยสงสัยกันไหมนะว่าลูกตัวน้อยของเรารู้สึกหรือสัมผัสอะไรได้บ้าง? นักจิตวิทยา Jean Piaget ได้คิดค้นทฤษฎีพัฒนาการทางสติปัญญาใน 4 ช่วงวัย ด้วยความเชื่อว่าคนเราพัฒนาศักยภาพทางสติปัญญาตามการเจริญเติบโตของเรา ตั้งแต่เด็กจนถึงเป็นวัยแรกรุ่นเลยล่ะ เราไปดูกันเถอะค่ะ
ระยะใช้ประสาทสัมผัส (Sensorimotor Stage)
ระยะใช้ประสาทสัมผัสอยู่ในช่วงทารกแรกเกิดจนถึงอายุ 2 ปี โดยในช่วงนี้ ลูกน้อยกำลังตื่นตาตื่นใจกับประสาทสัมผัสทั้งห้าที่พัฒนาขึ้น เขาจะสงสัยและยังไม่เข้าใจสิ่งต่าง ๆ รอบตัวเขา แต่ในขณะเดียวกัน ลูกน้อยจะสามารถขยับอวัยวะร่างกายอย่างง่าย ๆ เช่น หยิบจับสิ่งของได้ ขยับร่างกายได้
ส่วนเรื่องความคิดและภาษา ในวัยนี้ลูกน้อยยังไม่สามารถคิดหรือเข้าใจอะไรได้มากนัก แต่จะเริ่มเข้าใจว่าต่อให้มองไม่เห็น ทุกอย่างก็ยังอยู่ไม่ได้หายไปไหน (object permanence) ในด้านภาษา ลูกน้อยจะใช้ภาษาในการจัดระบบสิ่งต่าง ๆ รอบตัวเขาและให้คำสั่งแก่ผู้ปกครอง ว่าตอนนี้หิวแล้วนะ หรือผ้าอ้อมถึงเวลาต้องเปลี่ยนแล้วล่ะ
ระยะควบคุมอวัยวะต่าง ๆ (Preoperational Stage)
เมื่ออายุ 2 ถึง 6 ขวบ ลูกน้อยจะสามารถควบคุมอวัยวะได้มากขึ้น เขาสามารถเล่นกีฬา ขี่จักรยานได้แล้ว ในวัยนี้ลูกน้อยจะช่างสงสัยน่าดูเลยล่ะ คุณพ่อคุณแม่เตรียมรับคำถามจำนวนมากจากเขาได้เลย ลูกน้อยจะเริ่มเข้าใจใช้ความคิดได้ลึกซึ้งขึ้น และใช้ภาษาได้ซับซ้อนขึ้นค่ะ
เด็กวัยนี้จะช่างจินตนาการ ชอบคิดนู่นคิดนี่ คิดเพื่อนในจินตนาการของตัวเองขึ้นมาเป็นปกติเลยค่ะ และจากข้อที่แล้ว ถึงลูกน้อยจะรู้ว่าสิ่งของนั้นยังอยู่แม้เขาจะไม่เห็น แต่เขาก็ยังไม่สามารถเข้าใจถึงการเปลี่ยนแปลงของสิ่งของได้ค่ะ ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเรามีน้ำสองแก้วในปริมาณที่เท่ากัน แต่เราเทแก้วหนึ่งลงในแก้วที่สูงกว่า ถึงน้ำจะปริมาณเท่ากันเช่นเดิม ลูกน้อยจะเข้าใจว่าทรงแก้วที่สูงกว่า คือน้ำที่มากกว่าค่ะ
ระยะที่คิดอย่างเป็นรูปธรรม (Concrete Operational Stage)
อายุ 7 – 11 ปี ในวัยนี้ลูกน้อยจะเข้าใจความคิดทั้งทางรูปธรรมมากขึ้น สามารถตามกฎที่ถูกวางไว้ได้อย่างง่าย แต่ยังไม่เข้าใจตรรกะเบื้องหลังว่าทำไมต้องมีกฎเหล่านั้นและเพื่ออะไร เพราะยังไม่สามารถเข้าใจสิ่งที่เป็นนามธรรมได้ถี่ถ้วน หากเข้าใจก็ยังไม่สามารถนำไปประยุกต์กับสิ่งอื่นได้
ระยะที่คิดอย่างเป็นนามธรรม (Formal Operation Stage)
อายุ 12 – 15 ปี เข้าสู่ช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ ก่อนที่เด็กน้อยจะเติบโตเป็นผู้ใหญ่อย่างเต็มที่ ในวัยนี้เขาสามารถเข้าใจนามธรรมได้อย่างชัดเจน อีกทั้งยังสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับสิ่งอื่นได้อีกด้วย เขาสามารถเข้าใจสิ่งใหม่ ๆ ได้เพียงแค่อธิบายให้ฟัง ไม่จำเป็นต้องแสดงให้ดู สามารถวางแผนและใช้ตรรกะแก้ปัญหาได้ดี รู้ว่าสิ่งใดผิดถูก
ทั้งสี่ระยะนี้สามารถเกิดขึ้นได้ช้าเร็วตามสภาพแวดล้อมและตามทักษะของตัวเด็กเองค่ะ อยากให้คุณแม่สบายใจได้ ถึงเวลาแล้วลูกน้อยก็จะพัฒนาทักษะขึ้นตามสมควรเองค่ะ 😆
ที่มา: