การติดเชื้อโควิด-19 ในเด็ก สร้างความกังวล และความตึงเครียดให้กับคุณพ่อคุณแม่เป็นอย่างมาก ยิ่งมีการเปิดภาคเรียนในเดือนพฤศจิกายนนี้แล้ว ลูกๆ ก็ต้องเดินทางไปโรงเรียน ซึ่งเราไม่มีทางรู้เลยว่าจะมีความเสี่ยงแค่ไหน?
ในปัจจุบัน พบว่า แม้จะมีการติดเชื้อในเด็กอายุน้อยกว่า 18 ปี ในสัดส่วนที่สูงขึ้น แต่ผู้ป่วยเด็กที่ติดเชื้อโควิด-19 ส่วนใหญ่มักมีอาการไม่รุนแรง และมีอัตราการเสียชีวิตน้อยมาก
เด็กที่ติดเชื้อโควิ-19 จนเสียชีวิต มักจะเป็นผู้ที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทําให้โควิด-19 รุนแรงขึ้น จนถึงขั้นเสียชีวิตได้ ด้วยเหตุนี้ คุณพ่อคุณแม่หลายคนจึงเกิดความกังวล และสงสัยว่า ลูกเราควรฉีดวัคซีนยี่ห้อไหนดีนั่นเอง ระหว่าง Pfizer VS Sinopharm ไปดูกัน
เมื่อวันพุธที่ 29 กันยายน 2564 ที่ผ่านมานี้ Parents One ได้ไปเจอบทความของเพจ เลี้ยงลูกโตไปด้วยกันกับหมออร Hormone for Kids กุมารแพทย์ต่อมไร้ท่อ ที่ได้ให้คำแนะนำเกี่ยวกับการรับวัคซีนโควิด-19 สำหรับเด็ก และวัยรุ่นอายุตั้งแต่ 12 ปีขึ้นไป จาก ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย ว่า
ควรให้เด็กและวัยรุ่นฉีดวัคซีนชนิดที่ได้รับการรับรอง ขึ้นทะเบียนกับองค์การอาหารและยาแห่งประเทศไทยให้ใช้ในเด็กและวัยรุ่น โดยให้ตรงตามอายุที่ได้ขึ้นทะเบียนไว้ และวัคซีนได้ผ่านการพิจารณาด้านความปลอดภัยและประสิทธิภาพจากคณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกัน ซึ่งในตอนนี้ มีเพียง “วัคซีน mRNA ของไฟเซอร์” ชนิดเดียวเท่านั้นที่ผ่านเกณฑ์ข้างต้น
- ส่วนวัคซีน “ซิโนฟาร์ม” ยังไม่มีข้อมูลยืนยันที่แน่ชัดว่าเหมาะสำหรับเด็กจริงๆ เพราะอยู่ในขั้นของการวิจัยนั่นเองค่ะ
ดังนั้น เราไปทำความรู้จักกับวัคซีนไฟเซอร์ให้ดีมากยิ่งขึ้นกันดีกว่า
เงื่อนไขที่เด็กจะสามารถได้รับวัคซีนไฟเซอร์ มี 3 ประเด็นหลักๆ คือ
- ก่อนฉีดไฟเซอร์ : ต้องเป็นการฉีดที่เด็กสมัครใจฉีด และได้รับการยินยอมจากผู้ปกครองก่อนแล้วเท่านั้น
- วัคซีนไฟเซอร์จะถูกจัดสรรผ่านโรงเรียน ซึ่งมีกลุ่มเป้าหมาย คือ นักเรียนชั้น ม.1 – ม.6 ปวช./ปวส.
- เด็กอายุ 12 ปีขึ้นไป :
- เด็กผู้หญิง : สามารถฉีดไฟเซอร์ได้ทุกคน ทั้งเด็กที่ร่างกายแข็งแรง และเด็กที่เป็น 7 กลุ่มเสี่ยง
- เด็กผู้ชาย : ให้ฉีดเฉพาะวัคซีนเข็มที่ 1 ส่วนเข็มที่ 2 ให้ชะลอไปก่อน เนื่องจาก อาจเกิดผลข้างเคียงเกี่ยวกับภาวะ “กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ” หรือ “เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ”
ซึ่งภาวะ “กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ” หรือ “เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ” (myocarditis/pericarditis) พบบ่อยในเด็กชายอายุ 12-16 ปี หลังจากที่ฉีดวัคซีน mRNA ไฟเซอร์เข็ม 2 นั่นเอง โดยมีอาการ หายใจหอบเหนื่อย เจ็บแน่นหน้าอก ซึ่งจะเกิดขึ้นภายใน 3-7 วัน หลังได้รับวัคซีน
ดังนั้น เด็กผู้ชายที่อายุ 12-15 ปี จึงควรฉีดไฟเซอร์เพียงเข็มเดียวเท่านั้น เพราะแค่เพียงไฟเซอร์เข็มเดียว ก็สามารถป้องกันอาการป่วยหนัก และเสียชีวิตได้สูงถึง 94% แล้วค่ะ และแน่นอนว่า เพื่อป้องกันการเกิดภาวะ “กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ” หรือ “เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ” ด้วยนั่นเอง
ข้อปฏิบัติหลังจากที่ลูกฉีดไฟเซอร์แล้ว
- งดออกกำลังกาย 1 อาทิตย์
- ถ้ามีอาการปวดหัว ควรกินยาแก้ปวดลดไข้
- สังเกตอาการหากมีอะไรปกติ เช่น
เจ็บแน่นหน้าอก หายใจหอบเหนื่อย ใจสั่น หน้ามืด เป็นลม ควรรีบพาไปพบแพทย์ทันที! รวมทั้งแจ้งข้อมูลว่าเพิ่งได้รับวัคซีนไฟเซอร์
สุดท้ายนี้ ต้องขอขอบคุณข้อมูลดีๆ จากเพจ เลี้ยงลูกโตไปด้วยกันกับหมออร Hormone for Kids กุมารแพทย์ต่อมไร้ท่อ ที่นำความรู้ดีๆ เกี่ยวกับเรื่องวัคซีนป้องกันโควิด-19 สำหรับเด็กมาบอกต่อกันนะคะ และทางเราหวังเป็นอย่างยิ่งว่า คุณพ่อคุณแม่น่าจะต้องหันมาใส่ใจ หาข้อมูล และดูแลลูกเกี่ยวกับการฉีดวัคซีน ซึ่งมีความซับซ้อนอยู่ไม่มากก็น้อยนั่นเอง สุดท้ายนี้ ทุกๆ วัคซีน มีข้อจำกัดหรือเงื่อนไขอยู่ในตัวมันเอง ก่อนที่จะตัดสินใจให้ลูกฉีดวัคซีนใดๆ คุณพ่อคุณแม่ควรตรวจสอบเช็กข้อมูลกันดีๆ ก่อนนะคะ จะได้ไม่ส่งผลกระทบต่อลูกในภายหลังนั่นเอง
ด้วยความเป็นห่วงอย่างจริงใจ จาก Parents One
ขอขอบคุณแหล่งอ้างอิง :
เลี้ยงลูกโตไปด้วยกันกับหมออร Hormone for Kids กุมารแพทย์ต่อมไร้ท่อ
คำแนะนำในการฉีดวัคซีนโควิด-19 สำหรับเด็กและวัยรุ่นอายุตั้งแต่12 ปีขึ้นไป (ฉบับที่2)
เปิดคำแนะนำ “ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์” ฉีดไฟเซอร์เด็ก 12 ปี