จากสถิติของการติดเชื้อโควิด-19 ในเด็กไทยที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน จนถึง 13 กรกฎาคม 2564 พบว่ามีจำนวนสะสมมากถึง 33,020 ราย ซึ่งเด็กส่วนใหญ่ที่ติดโควิดมักจะมีโรคประจำตัวพ่วงมาด้วย แต่อย่างไรก็ตาม การติดโควิด-19 ในเด็กถือเป็นเรื่องที่น่ากลัวมากๆ เพราะ ผู้ป่วยเด็กส่วนใหญ่ติดเชื้อโดยไม่แสดงอาการ หรือมีอาการเพียงเล็กน้อยเท่านั้น แต่จะไม่ค่อยรุนแรง และติดยากกว่าผู้ใหญ่หลายเท่า
ซึ่งวัคซีนป้องกันโควิด-19 ที่สามารถฉีดให้เด็ก ที่มีอายุ 12 ปีขึ้นไป ตอนนี้มีเพียงยี่ห้อไฟเซอร์ ซึ่งได้รับการรับรองในต่างประเทศแล้วเท่านั้น และคาดว่าในเร็วๆ นี้วัคซีนโมเดอร์นาก็จะได้รับการรับรองให้ใช้ในเด็ก 12 ปีขึ้นไปเช่นกัน
ส่วนอีกวัคซีนซึ่งมีการศึกษาแล้วว่าใช้ในเด็กแล้วมีความปลอดภัย คือ ซิโนแวค ที่ฉีดได้ตั้งแต่อายุ 3 ขวบขึ้นไป โดยใช้ปริมาณครึ่งโดสของผู้ใหญ่ แต่ยังไม่ได้รับการรับรองอย่างเป็นทางการมาเหมือนวัคซีนไฟเซอร์
อธิบดีกรมควบคุมโรค(คร.) กล่าวว่า สำหรับวัคซีนไฟเซอร์ซึ่งได้รับบริจาคจากประเทศสหรัฐอเมริกาจำนวน 1.5 ล้านโดส จะใช้ฉีดให้ 4 กลุ่มเป้าหมาย ประกอบด้วย
กลุ่มที่ 1 บุคลากรการแพทย์และสาธารณสุข ที่ดูแลผู้ป่วยโควิด19 ทั่วประเทศ จำนวน 7 แสนโดส
กลุ่มที่ 2 ฉีดในผู้สูงอายุ ผู้ที่มี 7 กลุ่มโรคเรื้อรัง หญิงตั้งครรภ์ที่อายุครรภ์เกิน 12 สัปดาห์ และเด็กอายุ 12 ปีขึ้นไป ที่มี 7 กลุ่มโรค จำนวน 645,000 โดส
ซึ่งจะมีการกระจายไปใน 13 จังหวัดพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด คือ กรุงเทพฯ สมุทรปราการ ปทุมธานี นนทบุรี นครปฐม สมุทรสาคร ฉะเชิงเทรา ชลบุรี พระนครศรีอยุธยา สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส
กลุ่มที่ 3 ชาวต่างชาติที่อาศัยในประเทศไทย โดยเป็น ผู้ที่มี 7 กลุ่มโรคเรื้อรัง หญิงตั้งครรภ์ที่อายุครรภ์เกิน 12 สัปดาห์ และคนไทยผู้ที่จะเดินทางไปต่างประเทศที่จำเป็นต้องฉีดวัคซีนไฟเซอร์ เช่น นักเรียน นักศึกษา เป็นต้น จำนวน 150,000 โดส
กลุ่มที่ 4 ทำการศึกษาวิจัย โดยการอนุมัติของคณะกรรมการวิจัยจริยธรรม เพื่อนำผลการวิจัยมาใช้ในการกำหนดนโยบายต่อไป จำนวน 5,000 โดส
โดยทั้งนี้ ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย ได้ออกแถลงการณ์คำแนะนำเกี่ยวกับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด -19 สำหรับเด็ก ดังนี้
-ยังไม่แนะนำวัคซีนโควิด 19 สำหรับเด็กทั่วไปที่แข็งแรงดีในขณะนี้ จนกว่าจะมีวัคซีนที่มากขึ้น และมีข้อมูลเรื่องประสิทธิภาพและความปลอดภัยของวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 ในเด็กเพิ่มเติม
-แนะนำให้ฉีดวัคซีนที่กระทรวงสาธารณสุขรับรองให้ใช้ในเด็ก ในกรณีผู้ป่วยเด็กที่มีโรคประจำตัวที่มีความเสี่ยงของโรคโควิด 19 ที่รุนแรง เช่น โรคอ้วน โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคไตวายเรื้อรัง โรคหลอดเลือดสมอง โรคมะเร็งและภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ และโรคเบาหวาน เป็นต้น
-แนะนำให้ผู้ใหญ่ที่ใกล้ชิดรับวัคซีน
-แนะนำให้สร้างวินัยในการป้องกันตัวเอง เช่น สวมหน้ากาก ล้างมือ เว้นระยะห่างให้แก่เด็กในทุกวัยและหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่อากาศไม่ถ่ายเท
-แนะนำผู้ปกครอง ทำงานที่บ้าน งดการเยี่ยมเยียนจากบุคคลภายนอก
ขอบคุณแหล่งข้อมูลอ้างอิง : www.bangkokbiznews.com