โรคไอกรน เป็นโรคติดเชื้อทางเดินหายใจที่พบได้ง่ายในเด็กแรกเกิด ติดต่อกันได้ง่ายผ่านทางไอ จาม โดยในช่วงแรกจะคล้ายอาการโรคไข้หวัดทั่วไป โดยในช่วงนี้มีแนวโน้มพบมากขึ้นในเด็กเล็ก เนื่องจากอาจไม่ได้รับวัคซีนให้ครบตามกำหนด
อาการของโรคไอกรนคือ คือ มีไข้ ไอ จาม น้ำมูกไหล อ่อนเพลีย ต่อจากนั้นจะไอรุนแรงมากขึ้นในสัปดาห์ที่ 2-4 ไอติดต่อกัน 5-10 ครั้งแล้วหยุดไป แล้วจะเริ่มไอใหม่เป็นเช่นนี้ซ้ำๆ เมื่ออาการไอสิ้นสุดแล้วจะหายใจเข้าอย่างรวดเร็วทำให้เกิดเสียงดัง “วู๊ป” ไอรุนแรงจนอาเจียน และมีเสมหะปน บางรายถึงขั้นไม่สามารถหายใจเองได้
จากการเฝ้าระวังของกรมควบคุมโรค สถานการณ์โรคไอกรนในประเทศไทย ตั้งแต่ 1 ม.ค.-21 เม.ย.63 มีผู้ป่วยโรคไอกรนแล้ว 31 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิต ผู้ป่วยส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มอายุแรกเกิด-4 ปี
ดังนั้นกรมควบคุมโรคขอแนะนำว่า หากมีอาการไอติดต่อกันเกิน 10 วัน หรือไอเป็นชุด ให้แยกผู้ป่วยเพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อแก่ผู้อื่น โดยเฉพาะเด็กเล็กที่ยังได้รับวัคซีนไม่ครบ ควรสวมหน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อยๆ แล้วรีบพบแพทย์
ส่วนผู้ที่มีอาการไอ จาม ไม่ควรคลุกคลีกับเด็กแรกเกิด หรือไม่ควรพาเด็กเล็กไปในสถานที่ชุมชนหรือแออัด และหากพบเด็กแรกเกิดมีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ ไอเป็นชุดๆ ไอมาก หายใจไม่ทัน หรือไอแล้วมีเสียงวู๊ป ให้รีบพาไปแพทย์ทันที ที่สำคัญคือให้พาลูกไปรับวัคซีนป้องกันโรคไอกรนตามช่วงอายุที่กำหนด คือ อายุ 2,4,6 เดือน และฉีดกระตุ้นเมื่ออายุขวบครึ่งและ 4 ปี
อ้างอิงจาก
https://ddc.moph.go.th/brc/news.php?news=12714&deptcode=brc&news_views=964