“โรคแห่งความสมบูรณ์แบบมันมีจริงๆ หรอ?”
คุณพ่อคุณแม่เคยสังเกตไหมคะ ว่าบางครั้งลูกมีอารมณ์รุนแรง ไม่พอใจในสิ่งที่ตัวเอง หรือผู้อื่นทำ เพราะรู้สึกว่ายังไม่สมบูรณ์แบบพอตามที่ตัวเองอยากให้เป็นจนไปกดดันตัวเอง ไม่เห็นคุณค่าในสิ่งต่างๆ รอบตัว ลูกของคุณอาจเป็นโรค Perfectionist เกินเหตุอยู่ก็ได้ค่ะ
เด็กที่เป็นโรคนี้จะมีอาการอย่างไร? และเราต้องเลี้ยงลูกอย่างไรไม่ให้เป็นเด็ก Perfectionist เกินเหตุ ไปอ่านบทความนี้กันเลยค่ะ
ทำความรู้จักกับโรคแห่งความสมบูรณ์แบบ Perfectionist ความกังวลที่เกิดจากตัวของตัวเอง
เด็กที่มีลักษณะนิสัยชอบในความสมบูรณ์แบบ จะทำให้กลายเป็นคนที่ไม่สามารถยืดหยุ่น และเข้มงวดกับตัวเองมาก จนเกิดเป็นความกดดันในตัวเอง แม้ว่าเด็กที่เป็น Perfectionist จะมีข้อดีอยู่ นั่นก็คือ มีระเบียบ ตรงต่อเวลา มีความรับผิดชอบสูง จนอาจทำให้ใครหลายๆ คนรู้สึกคาดหวังในตัวเขาอย่างเห็นได้ชัด จนกลายเป็นความความเครียด และความรู้สึกกดดันในตัวเอง แต่เมื่อเด็กโตขึ้น เขาจะไม่สามารถยืดหยุ่น และจัดการชีวิตของตัวเองได้แบบที่เขาต้องการนั่นเอง
อาการ
- รู้สึกหงุดหงิด หรือไม่พอใจเมื่อมีคนทำสิ่งที่ไม่ชอบ
- เด็กจะรู้สึกกังวลมากทุกครั้ง เมื่อสิ่งต่างๆ ไม่เป็นดั่งใจคิด แม้จะเป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ก็ตาม
- มีทัศนคคติด้านลบกับสิ่งต่างๆ อยู่ตลอดเวลา ทำให้กลายเป็นเด็กขี้กังวล และรู้สึกว่าตัวเองนั้นขาดความรัก ทำให้คนรอบข้างไม่อยากพูดคุย หรืออยู่ด้วย
- คาดหวังในตัวเองสูงเกินไป
- จัดลำดับความสำคัญไม่เป็น ไม่เลือกสักทาง
เลี้ยงลูกอย่างไรไม่ให้เป็นเด็ก Perfectionist เกินเหตุ
1. ฝึกให้เด็กทำอะไรด้วยตัวเอง สอนลูกให้เรียนรู้ และกล้าที่จะผิดพลาดบ้าง
“ไม่ perfect ไม่ใช่ปัญหา” สอนให้ลูกรู้จักที่จะยืดหยุ่น ไม่เครียดจนเกินไป และรู้จักมองเห็นคุณค่าในสิ่งที่ตัวเองมี
คุณพ่อคุณแม่ควรสอนให้ลูกกล้าที่จะผิดพลาด และได้ตัดสินใจ หรือทำอะไรด้วยตัวเอง เพื่อให้กลายเป็นบทเรียน โดยการสร้างความยืดหยุ่นในจิตใจของพวกเขา คือการแสดงให้เขาเห็นถึงความไม่สมบูรณ์แบบของตนเอง และให้รู้สึกว่ามันเป็นธรรมชาติของชีวิต ซึ่งจะทำให้ลูกรู้จักยอมรับความผิดพลาดของตนเอง และของผู้อื่น แทนที่จะยึดติดกับสิ่งนั้นและพยายามแก้ไขไปๆมาๆ เพื่อทำให้มันสมบูรณ์ที่สุด
2. ชวนลูกทำในสิ่งที่อยู่นอกแผน กล้าลอง + เสี่ยงในสิ่งที่แปลกใหม่
ลูกไม่จำเป็นที่จะต้องเดินตามแนวทางที่ถูกกำหนดเป๊ะๆ การออกไปค้นหาประสบการณ์ กล้าคิด กล้าลอง และทำในสิ่งที่แปลกใหม่ ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ลูกไม่ยึดติดกับแนวทาง หรือแผนระเบียบที่ถูกเขียนไว้ ซึ่งเป็นกับดักแห่งอาการ Perfectionist นั่นเองค่ะ
3. สอนให้ลูกคุมอารมณ์ของตัวเองให้อยู่ ไม่ไปก้าวร้าวใส่คนอื่น เมื่อตนเองไม่พอใจ
ฝึกลูกให้รู้จักกับการ “จัดการความเครียด” และรู้จักควบคุมอารมณ์ของตัวเองให้อยู่ ซึ่งคุณพ่อคุณแม่อาจจะใช้เทคนิคต่างๆ เช่น การฝึกทำสมาธิ ฝึกเจริญสติ ฝึกการหายใจ ให้ลูกรู้จักผ่อนคลาย ไม่ไปก้าวร้าวใส่ผู้อื่นนั่นเองค่ะ
4. พ่อแม่ควรเป็นตัวอย่างที่ดี แสดงความรัก และยอมรับเด็ก แม้ว่าบางครั้งเขาจะทำผิดพลาดบ้าง ก็ให้อภัย
คุณพ่อคุณแม่ควรรู้จักแสดงความรักที่มีต่อลูกให้เขาได้รับรู้ อย่ามัวแต่เก็บความรู้สึกอยู่ข้างใน จนทำให้ลูกเกิดการเข้าใจผิด รวมทั้งยอมรับในตัวตนที่ลูกเป็น ถึงแม้ว่าบางครั้งเขาอาจจะเลือกทางที่ผิดพลาดบ้างก็ตาม
ยิ่งพ่อแม่เชื่อมความรู้สึก
5. เมื่อลูกรู้สึกผิดหวังเสียใจ พ่อแม่ควรอยู่ข้างๆ เขา และเข้าใจในสิ่งที่เป็นไปพร้อมๆ กัน ไม่ต้องปลอบลูกไปเสียทุกเรื่อง

คุณพ่อคุณแม่ควรลดความคาดหวังในตัวลูกลง เพื่อไม่ให้เด็กรู้สึกกดดันในตัวเองมากเกินไป แม้ว่าเขาจะทำผิดพลาด แต่ก็ยังมีคุณพ่อคุณแม่ที่จะคอยอยู่ข้างๆ และคอยสนับสนุนเขาอยู่เสมอ
ที่สำคัญ คือ ต้องไม่ปลอบลูก หรือโอ๋ลูกในทุกเรื่องเกินไปนะคะ ให้เขาได้เข้าใจ และรู้จักเรียนรู้ความผิดหวังด้วยตัวเอง เท่านี้เด็กก็จะมีภูมิคุ้มกันในชีวิตต่อไปในอนาคตแล้วค่ะ
6. หากลูกมีอาการหนักเกินไป ควรพาไปพบคุณหมอเพื่อบำบัดอารมณ์
ถ้าลูกเป็น Perfectionist มากจนแก้ไขได้ยาก แนะนำให้คุณพ่อคุณแม่ลองพาน้องไปพบคุณหมอ หรือผู้เชี่ยวชาญ เพื่อบำบัดจิตใจให้คลายความกังวล และไม่เสี่ยงเป็นโรคซึมเศร้าในอนาคตนั่นเองค่ะ
สิ่งที่ลูกต้องการมากที่สุดคงจะเป็นความรัก และความเข้าใจจากคนที่เป็นพ่อเป็นแม่ คุณพ่อคุณแม่จำนวนมากอาจยังไม่เข้าใจในตัวลูกที่เป็น Perfectionist อย่างแท้จริง รวมทั้งสิ่งที่ลูกต้องเจอ และทนทุกข์กับการเป็นโรคนี้ โดยที่คนในสังคมยังไม่ค่อยเข้าใจ และยอมรับในสิ่งเหล่านี้
เราจึงควรสอนลูกให้รู้จักการยอมรับในความไม่สมบูรณ์แบบของตัวเอง และของผู้อื่นอย่างจริงใจ ซึ่งเป็นสิ่งที่จะทำให้ทุกๆ อย่างเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น เป็นเหมือนการปลดล็อกชีวิตที่คิดว่าตัวเองนั้นต้องสมบูรณ์แบบมาตั้งแต่เกิดก็ได้เช่นกันค่ะ
ขอขอบคุณแหล่งอ้างอิงจาก : Dad Mom and Kids