Parents One

โตแล้วแต่ยังฉี่ราด! จะแก้อย่างไรดี

ปัญหาที่ไม่ว่าครอบครัวไหนก็ต้องประสบนั่นก็คือการฉี่รดที่นอนหรือฉี่ราดในที่สาธารณะของลูกน้อยจึงทำให้บางครั้งคุณพ่อคุณแม่ก็ทำให้รู้สึกเป็นกังวลว่านี่คือเรื่องผิดปกติรึเปล่าหรือเป็นแค่ช่วงวัยที่เกิดขึ้นมาได้เองแล้วหายไป

บางทีอยู่บ้านก็ขับถ่ายได้เป็นปกติแต่พอไปโรงเรียนกลับได้รับสายอยู่เรื่อยจากครูว่าฉี่รดกางเกงหรือกระโปรงอีกแล้วซึ่งปัญหาเหล่านี้ก็มักมีสาเหตุที่แตกต่างกันออกไปค่ะ เรามาดูกันดีกว่าว่าเหตุผลที่ทำให้เจ้าตัวแสบตัวซ่าของเราเกิดอาการปัสสาวะราดหรือไม่สามารถควบคุมการขับถ่ายของตนเองนั้นเกิดจากอะไรได้บ้าง

แล้วจะพอมีวิธีแก้ไขปัญหานี้ได้บ้างหรือไม่

ช่วงการเจริญเติบโตและการฉี่ราดของลูกน้อย

เด็กๆจะมีพัฒนาการด้านการขับถ่ายเป็นลำดับไปตามการเจริญเติบโต ในช่วงอายุ 6 – 12 เดือน เด็กจะเริ่มรู้จักการขับถ่าย สามารถกลั้นได้ในช่วงกลางคืนและควบคุมการขับถ่ายได้ในช่วงกลางวันเมื่ออายุเกิน 1 ปี แต่ในส่วนของการปัสสาวะหรือฉี่นั้นจะช้ากว่า สามารถเริ่มควบคุมได้ตอนช่วงอายุ 2-3 ปีในช่วงกลางวันและเมื่ออายุ 4-5 ปีก็จะสามารถคุมได้ในช่วงกลางคืนค่ะ ฉะนั้นช่วงวัยแรกเกิดจนถึง 5 ขวบยังพบเห็นปัญหาฉี่รดที่นอนหรือฉี่ราดที่โรงเรียนยังนับว่าไม่ใช่เรื่องผิดปกติแต่ต้องมีการสอนขับถ่ายให้เป็นเวลาและรู้จักที่จะขอเข้าห้องน้ำ

แต่ถ้าหากอายุมากกว่านั้นหรือมีอาการฉี่ราดบ่อยเกินไปก็อาจจะถือได้ว่าเป็นปัญหามากกว่าแค่เรื่องพัฒนาการ เราจะต้องมาเจาะลึกกันอีกนิดว่ามันเกิดจากอะไรได้บ้าง

สาเหตุของการฉี่ราดหรือไม่สามารถกลั้นปัสสาวะได้ทางร่างกาย

  1. ดื่มน้ำมาเกินกว่าร่างกายจะรับ โดยปกติแล้วเด็กๆจะดื่มน้ำอยู่ที่ประมาณ 5-7 แก้วต่อวัน (รวมไปถึงนมและน้ำผลไม้อื่นๆ) ซึ่งอาจจะทำให้ปวดฉี่ได้อยู่บ่อยครั้งหากดื่มในปริมาณมากก่อนนอน
  2. เป็นเรื่องทางพันธุกรรมที่มีสักฝั่งอาจเป็นคุณพ่อหรือคุณแม่ที่มีอาการฉี่ราดหรือปัสสาวะยามหลับตอนยังเด็กแล้วพันธุกรรมนี้ส่งผลถึงลูก
  3. ไตและกระเพาะปัสสาวะมีปัญหาทำให้ไม่สามารถควบคุมหรือกลั้นได้ในเวลาที่ต้องการ
  4. เป็นเบาหวานจึงทำให้ร่างกายมีการขับปัสสาวะบ่อยกว่าปกติ
  5. โครงสร้างอวัยวะร่างกายอาทิกล้ามเนื้อมีความผิดปกติทำให้ไม่สามารถควบคุมได้ตอนต้องกลั้น
  6. กระเพาะปัสสาวะมีขนาดเล็กกว่าคนทั่วไป
สาเหตุของการฉี่ราดหรือไม่สามารถกลั้นปัสสาวะได้ทางจิตใจ

  1. มีความเครียดหรือกังวลกับสภาพแวดล้อมทั้งในบ้านและที่โรงเรียนจึงทำให้ไม่สามารถปัสสาวะได้ในเวลาที่ต้องปัสสาวะแล้วจึงเผลอปล่อยออกในเวลาอื่น
  2. ถูกดุด่าว่ากล่าวในเรื่องนี้ซ้ำๆจนเกิดความกลัวเลยพยายามที่จะกลั้นไว้ไม่ยอมเข้าแล้วพอทนไม่ไหวก็เลยเปิดปัญหาฉี่ราดขึ้นมาอีก
  3. รู้สึกขยาดหรือแขยง ไม่กล้าเข้าห้องน้ำต่างสถานที่เพราะรู้สึกสกปรกและไม่คุ้นชิน
  4. โดนเพื่อนล้อหรือผู้ใหญ่แซวเวลาเข้าห้องน้ำจึงทำให้ไม่ยอมเข้าแม้จะปวดมากแค่ไหนก็ตามเพราะไม่ต้องการเป็นตัวตลก
วิธีแก้ไขปัญหาการฉี่ราดหรือไม่สามารถกลั้นปัสสาวะด้านร่างกาย

  1. จับตาดูพฤติกรรมของลูกว่ามีอาการปวดหรือไม่ หากมีต้องสอบถามแล้วเตือนให้เข้าห้องน้ำในทันทีเพื่อให้เขารู้ว่าถึงเวลาแล้วที่จะเข้าห้องน้ำ
  2. สังเกตช่วงการดื่มน้ำของลูกให้อยู่ในช่วงเวลาเย็นอย่าให้ลามไปถึงการดื่มก่อนเข้านอนเพราะจะทำให้ปวดฉี่ในขณะที่หลับอยู่ได้
  3. พยายามกำหนดเวลาเข้าห้องน้ำให้มีช่วงเวลาที่แน่นอนเช่นก่อนนอนซักชั่วโมง ชวนลูกไปเข้าห้องน้ำแม้จะไม่รู้สึกปวดแต่ก็ต้องฝึกให้เป็นเวลาให้ลูกน้อยจดจำว่าถึงเวลาต้องเข้าห้องน้ำ
  4. หากพบว่าลูกมีการปัสสาวะบ่อยแต่ก็ยังมีอาการฉี่ราดอยู่ต้องนำไปพบแพทย์เพื่อให้ตรวจสอบว่าเกิดจากสาเหตุใด ไม่นิ่งนอนใจ
วิธีแก้ไขปัญหาการฉี่ราดหรือไม่สามารถกลั้นปัสสาวะด้านจิตใจ

  1. ไม่ดุด่าหรือตบตีตอนเห็นว่าทำผิดแต่ค่อยๆใช้วิธีพูดคุยอย่างใจเย็นเพราะบางครั้งลูกก็อาจจะยังไม่เข้าใจว่าเป็นเรื่องที่ต้องได้รับการแก้ไข
  2. ชักชวนและให้กำลังใจลูกเวลาเข้าห้องน้ำว่าไม่ใช่เรื่องน่าอายหรือน่ากลัว
  3. เชยชมทุกครั้งที่ลูกสามารถเข้าห้องน้ำด้วยตนเองได้และไม่ปัสสาวะเลอะหรือราด
  4. หากิจกรรมสนุกๆให้ลูกได้มีมุมมองดีๆกับการเข้าห้องน้ำเช่น ให้คะแนนสติ๊กเกอร์ตามจำนวนวันที่ไม่ฉี่ราดหรือให้ขนมเป็นรางวัลพอสามารถปัสสาวะได้เป็นเวลาครบอาทิตย์

 

ที่มา :bangkokhealth, doctor, amarinbabyandkids, pobpad