ทำไมช่วงนี้ เราถึงได้ยินคำว่า PDPA กันบ่อยขึ้นใช่ไหมล่ะคะคุณพ่อคุณแม่ ทั้งในโซเชียลมีเดีย หรือจะในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะหันไปทางไหน ทุกคนก็ต่างให้ความสำคัญเกี่ยวกับ พ.ร.บ. ฉบับใหม่นี้ ซึ่งจะเริ่มใช้ในวันที่ 1 มิถุนายน 2565
PDPA คืออะไรกันแน่ แล้วทำไมถึงเกี่ยวข้องกับการใช้ชีวิตประจำวันของทุกคน เราไปหาคำตอบกันเลยค่ะ?
ทำความรู้จัก “PDPA” คืออะไร?
PDPA (Personal Data Protection Act) หรือ พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ.2562 ถูกจัดตั้งขึ้นเพื่อป้องกันการถูกละเมิดสิทธิส่วนบุคคล รวมทั้งการต้องขอ “ความยินยอม” จากเจ้าของข้อมูล ก่อนการเก็บ รวบรวม ใช้ หรือเปิดเผยในที่สาธารณะ หรือนำไปใช้ในทางที่ก่อให้เกิดความเสียหายทั้งด้านร่างกายและจิตใจแก่บุคคลที่ถูกอ้างอิง
ทั้งข้อมูลส่วนตัว รูปภาพ คลิปวิดีโอ หรือแม้กระทั่งชื่อ – นามสกุล หากเจ้าของข้อมูลส่วนตัวไม่ยินยอม ผู้ที่เป็นคนเปิดเผยข้อมูลเหล่านั้น ก็สามารถมีความผิดตาม พ.ร.บ. ได้ทั้งสิ้น
และแน่นอนว่า พ.ร.บ. นี้มีผลกับทุกองค์กรทั่วโลกที่เก็บข้อมูลของคนไทย จึงไม่มีองค์กรไหนสามารถทำเพิกเฉยกับพ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล หรือที่เรียกกันว่า PDPA นี้ได้
ข้อมูลแบบไหน ถือเป็น “ข้อมูลส่วนบุคคล” ที่ต้องระวังไม่ให้คนอื่นรู้!
ข้อมูลส่วนบุคคล คือ ข้อมูลที่ห้ามเปิดเผยให้ใครรับรู้ได้ง่ายๆ เนื่องจากข้อมูลเหล่านั้นเป็นข้อมูลที่สำคัญ และจำเป็นมากๆ ในชีวิตเรา รวบรวมทุกอย่างในชีวิต และสามารถใช้ยืนยันตัวตนที่แท้จริงของเราได้ ดังนี้
- เลขบัตรประชาชน
- ชื่อ – นามสกุล
- ที่อยู่
- เบอร์โทรศัพท์
- เชื้อชาติ
- อีเมล
- ข้อมูลทางการเงิน
- ศาสนาหรือปรัชญา
- เพศ
- ข้อมูลสุขภาพ หรือข้อมูลพันธุกรรม
- ประวัติอาชญากรรม
เพราะฉะนั้น คุณพ่อคุณแม่ควรบอกให้ลูกน้อยรับรู้ว่าข้อมูลส่วนบุคคลนั้นเป็นความลับมากๆ จึงไม่ควรบอกให้ใครรู้ และสอนลูกน้อยให้ลูกน้อยอย่าหลงเชื่อกลโกงง่ายๆ ในโลกออนไลน์นั่นเอง
Q&A เคสแบบไหนที่พ่อแม่ควรระวัง เมื่อมี PDPA
คุณพ่อคุณแม่อาจจะสงสัยว่า เอ๊ะ! แล้ว PDPA หรือ พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ.2562 เกี่ยวข้องอะไรกับชีวิตแม่ลูก 2 อย่างเราล่ะ Parents One เลยขอยกตัวอย่างเล็กๆ น้อยๆ เพื่อให้คุณพ่อคุณแม่ได้เห็นภาพชัดเจนมากขึ้น ว่าแท้จริงแล้ว PDPA นั้น เกี่ยวข้องอย่างไรกับชีวิตของเราบ้างนั่นเองค่ะ
Q1 : ถ่ายรูปลูก แต่ดันติดใบหน้าของเด็กคนอื่น ในลักษณะที่ไม่เหมาะสม แล้วโพสต์ลง Facebook ส่วนตัว
A : ในลักษณะเคสนี้ เป็นสิ่งที่ไม่ผิด PDPA ค่ะ แต่ก็เป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสม และไม่ควรโพสต์ลงไปอย่างยิ่งนะคะคุณพ่อคุณแม่ แม้ว่าจะโพสต์ใน Facebook ส่วนตัวก็ตาม
ซึ่งวิธีแก้ที่ดีที่สุด คือการไม่ถ่ายภาพติดใบหน้าของเด็กคนอื่น แต่ถ้าทำไม่ได้ก็ให้เบลอภาพใบหน้าของเด็กคนอื่นที่ถูกถ่ายติดนั่นเองค่ะ และอีกวิธีที่แสนง่าย นั่นก็คือ เอารูปภาพนั้นไปขออนุญาตความยินยอมจากอีกฝ่ายนั่นเอง
แต่ถ้าคุณแม่ของเด็กคนนั้นเผลอมาเห็น แล้วไม่พอใจ อยากให้ลบภาพนั้นทิ้ง เราก็ต้องลบภาพนั้นนะคะคุณพ่อคุณแม่ เพราะถือเป็นสิทธิส่วนบุคคลของลูกเขานั่นเองค่ะ
Q2 : กล้องวงจรปิดในโรงเรียนที่คอยถ่ายลูกเรา ผิด พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลหรือไม่?
A : ติ๊กต๊อกๆ ถึงเวลาเฉลยยยย
กล้องวงจรปิดที่ถ่ายลูกของเราในโรงเรียน ไม่ผิด PDPA หรือ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล นั่นเองค่ะ
แต่มีข้อแม้ว่า ห้ามทางโรงเรียนนำคลิปจากกล้องวงจรปิดไปเผยแพร่ในที่สาธารณะ และไม่สามารถเปิดให้ผู้ปกครองทุกคนดูได้ ยกเว้น ตอนที่เด็กนักเรียนมีปัญหา แล้วผู้ปกครองต้องการหลักฐานเพื่อสืบหาความจริง ทางโรงเรียนก็ต้องยินยอมให้ผู้ปกครองดูคลิปจากกล้องวงจรปิดนั้นนะคะ
Q3 : โรงเรียนถ่ายรูปรวมของเด็กนักเรียน แล้วโพสต์ลง Facebook ของเพจโรงเรียน เพื่อโปรโมตกิจกรรม
A : ในเคสนี้คุณพ่อคุณแม่คิดว่าผิด PDPA รึเปล่าเอ่ย?
เฉลย ไม่ผิด PDPA ค่ะ แต่รูปภาพที่ลงในเพจ Facebook ของโรงเรียน ต้องเป็นรูปภาพรวมของเด็กนักเรียน และห้ามเป็นภาพใบหน้าเด็กเฉพาะคนใดคนหนึ่ง ก็จะไม่ผิด PDPA แล้วค่ะ
เดี๋ยวก่อน! แต่ถ้ามีผู้ปกครองของนักเรียนคนใดที่อยู่ในรูป ไม่ต้องการให้รูปหน้าลูกของตัวเองลงเพจโรงเรียนแล้วล่ะก็ ทางโรงเรียนก็ต้องทำการลบรูปภาพนั้นให้นั่นเอง
Q4 : พ่อแม่ถ่าย Vlog กับลูก แล้วเผลอไปติดเด็กคนอื่น แล้วโพสต์ลงเพจ Facebook แบบสาธารณะ
A : ไม่ผิด PDPA แต่ทางที่ดีที่สุด เพื่อกันไม่ให้เกิดปัญหาในภายหลัง นั่นก็คือ คุณพ่อคุณแม่ควรมีการบอกคนที่อยู่แถวนั้นก่อนว่าจะมีการถ่ายทำ Vlog ไปลงในเพจใด เพื่อแจ้งให้บุคคลที่อยู่แถวนั้นได้รับทราบ และเตรียมตัว ซึ่งอาจจะบอกผ่านทางวาจาก็ได้เช่นเดียวกัน
PDPA เจ้าของข้อมูลมีสิทธิอะไรบ้าง?
- สิทธิการได้รับแจ้ง มาตรา 19
- สิทธิในการเพิกถอนความยินยอม มาตรา 19
- สิทธิการแก้ไขข้อมูลส่วนบุคคลให้ถูกต้อง มาตรา 35 และ 36
- สิทธิในการลบข้อมูลส่วนบุคคล มาตรา 33
- สิทธิในการให้โอนย้ายข้อมูลส่วนบุคคล มาตรา 31
- สิทธิการเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคล มาตรา 30
- สิทธิในการห้ามมิให้ประมวลข้อมูลส่วนบุคคล มาตรา 34
- สิทธิในการคัดค้านการประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคล มาตรา 32
ขอบคุณแหล่งอ้างอิง : easypdpa.com
www.bangkokbiznews.com