การที่พ่อแม่พยายามสอนลูกว่า “อย่าโกหก” แต่ว่าตัวเองกลับหลอกลูกเพื่อให้พวกเขาเชื่อฟัง ไม่ว่าอย่างไรลูกก็ไม่มีทางไม่โกหก เพราะมีผลงานวิจัยเผยว่า ยิ่งพ่อแม่พูดโกหกกับลูกมากเท่าใด เด็กก็มีโอกาสพูดโกหกมากขึ้นเท่านั้น
วารสาร “จิตวิทยาเด็กเชิงทดลอง” (Journal of Experimental Child Psychology) ได้ตีพิมพ์งานวิจัยจากทีมนักวิจัยด้านสังคมศาสตร์และจิตวิทยาของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีหนานหยาง (NTU) ผู้ที่ได้รับทุนสนับสนุนจากกระทรวงศึกษาธิการของสิงคโปร์ระบุว่า
ยิ่งพ่อแม่พูดโกหกกับลูกบ่อยครั้งมากขึ้นเท่าใด ก็ยิ่งมีความเสี่ยงสูงที่ลูกจะมีนิสัยชอบโกหกเมื่อพวกเขาโตขึ้นเท่านั้น ทั้งยังอาจจะกลายเป็นผู้ใหญ่ที่มีปัญหาในการปรับตัวเข้ากับสังคมอีกด้วย
จากการทดสอบและทำแบบประเมินของผู้ใหญ่ชาวสิงคโปร์ 379 คน ในการทำแบบประเมิน 3 ชุด ชุดแรกจะถามเกี่ยวกับประสบการณ์ในวัยเด็กว่าเคยถูกผู้ใหญ่โกหกหรือไม่ ส่วนชุดที่ 2 และ 3 จะถามเกี่ยวกับเรื่องในปัจจุบันว่าตนเองโกหกพ่อแม่และคนรอบข้างบ่อยแค่ไหน รวมถึงความยากลำบากในการปรับตัว
ผลปรากฏว่า กลุ่มตัวอย่างที่บอกว่าตนเองถูกหลอกด้วยเรื่องโกหกบ่อยครั้งในวัยเด็ก มีแนวโน้มที่จะชอบพูดโกหกหรือพูดเกินจริงเสียเองเมื่อโตเป็นผู้ใหญ่มากกว่าคนอื่นๆ ซึ่งการโกหกนั้นรวมไปถึง “การโกหกสีขาว” ด้วย
นอกจากนี้พวกเขามีปัญหาในการปรับตัวทางจิต-สังคม (Psychosocial adjustment) มากกว่าคนทั่วไปด้วย โดยมักมีปัญหาเรื่องพฤติกรรมก้าวร้าว, เห็นแก่ตัว, รู้สึกด้อยและอับอาย,ไม่เคารพกฎหมาย หรือชอบข่มขู่คุกคามผู้อื่น
ซึ่งพฤติกรรมเหล่านี้เป็นผลมาจากการที่พ่อแม่ใช้คำพูดโกหกเชิงแสดงอำนาจ เช่น ถ้าไม่กินข้าวให้หมดจะเรียกตำรวจมาจับ มากกว่าการพูดบิดเบือนความจริงโดยทั่วไป เช่น เมื่อลูกอยากได้ของเล่น แล้วพูดว่าไม่ได้เอาเงินมา
และการโกหกของพ่อแม่นั้นยังทำให้ความไว้เนื้อเชื่อใจในตัวพ่อแม่หมดไป เหลือไว้เพียงการเป็นแบบอย่างที่ไม่ดีให้ลูกเลียนแบบเท่านั้น
อ้างอิงจาก