Open-mindedness หรือความเปิดกว้างทางความคิด คือคุณสมบัติที่ผู้มีนั้นสามารถทำความเข้าใจและพร้อมที่จะเปิดรับความคิดใหม่ๆ ที่แตกต่างหรือตรงกันข้ามโดยไม่ใช้อารมณ์เป็นตัวตัดสินเพราะโลกใบนี้มีคนนับหลายล้านคนความแตกต่างย่อมมีเป็นเรื่องปกติและแน่นอนว่าทุกคนย่อมมีอิสระทางความคิดของตัวเอง
ซึ่งความเปิดกว้างทางความคิดนั้นนับเป็นคุณสมบัติที่จำเป็นมากในยุคสมัยนี้ที่ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงไปเสมอ ควรจะปลูกฝังในครอบครัวและตัวลูกน้อยเป็นพิเศษ เพราะทุกคนมีสิทธิ์ที่จะเห็นต่าง แต่ก็สามารถอยู่ร่วมกันได้ถ้าเรามีความเข้าใจและความประณีประนอมให้กันและกันค่ะ
แต่จะเริ่มจากไหนดีนะ? วันนี้ ParentsOne ก็เลยจะมาขอแนะนำวิธีส่งเสริมความเปิดกว้างทางความคิดให้กับทั้งครอบครัว จะมีอะไรกันบ้าง เราไปดูกันเลยดีกว่าค่ะ
เริ่มที่ตัวเอง
เด็กเล็กก็เหมือนกับฟองน้ำ พร้อมจะซึมซับและเรียนรู้ทุกอย่างและนำมาปฏิบัติเอง ถ้าหากต้องการสอนเขาให้เปิดกว้าง ก็ต้องเริ่มจากการปฏิบัติตนให้เปิดกว้างทางความคิดต่อหน้าเขาให้ได้ก่อนค่ะ แสดงให้เขาเห็นเสมอว่าความแตกต่างไม่ใช่สิ่งที่ไม่ดี เปิดโอกาสให้เขาถามคำถามและตอบโดยใช้เหตุผลและความเข้าใจเป็นที่ตั้ง
การฝึกความเปิดกว้างทางความคิดก็เหมือนกับการเปิดใจ อย่ากลัวที่จะต้อนรับสิ่งใหม่หรือความคิดที่ต่างไปจากเรา ถ้าเจอแง่คิดหรือมุมมองไหนที่เราไม่เห็นด้วย แทนที่จะใช้อารมณ์และความไม่เข้าใจ ให้มองเป็นประสบการณ์และโอกาสในการเรียนรู้แทน
ฟังให้มาก
“พูดให้น้อยลง ฟังให้มากขึ้น” เป็นขั้นตอนแรกสู่การทำความเข้าใจกับคนที่มีความเห็นต่างกับเราถึงการฟังจะดูเป็นอะไรที่ทำได้ง่าย แต่การตั้งใจฟังอีกฝ่ายเพื่อทำความเข้าใจนั้นถือเป็นการใช้ความอดทนสูง ฟังให้เข้าใจว่าสิ่งที่อีกคนต้องการจะสื่อคืออะไร และนำสิ่งที่เขาพูดมาแยกแยะความถูกผิด ความสมเหตุสมผล และนำข้อดีในเนื้อหานั้นๆ นำมาประยุกต์ใช้กับตัวเองค่ะ
ถ้าเจ้าหนูไม่พอใจกับความคิดหรือการกระทำคนไหน ลองให้เขาลองแทนตัวเองเข้าไปในคนที่เขาไม่พอใจอยู่ ถามเขาว่าทำไมอีกฝ่ายถึงทำแบบนั้น ให้เขาใช้เหตุผลแยกแยะกับอารมณ์ และรับมือกับสิ่งนั้นได้ด้วยความเข้าใจค่ะ
อย่ากลัวที่จะตั้งคำถาม
ถ้าเรากลัวที่จะตั้งคำถาม เราก็จะไม่รู้ความจริง พยายามส่งเสริมคนในครอบครัวให้หัดตั้งคำถามและตั้งใจฟังคำตอบที่ได้รับ เพราะทุกคนที่เรารู้จักมีเรื่องราวที่เราอาจจะไม่รู้ ถ้าใช้เวลาพูดคุยทำความเข้าใจกับเขาสักหน่อย อาจเปลี่ยนโลกเราได้เลยทีเดียวเชียวค่ะ และให้เขารู้ว่าแต่ละคนมีปัญหาที่ไม่เหมือนกัน เป็นธรรมดาที่มุมมองจะแตกต่างไปจากตัวเขาค่ะ
อย่ากลัวที่จะพูดคุยกับคนในครอบครัวเกี่ยวกับเรื่องความแตกต่าง ไม่ว่าจะเป็นภายนอกหรือภายใน ใช้โอกาสในการตั้งคำถามของลูกน้อยเพื่ออธิบายให้เขาเข้าใจว่าถึงแตกต่างแต่ก็ไม่เป็นไร เพราะทุกคนสามารถอยู่ร่วมกันได้ค่ะ
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นแล้วต้องระวังไม่ให้ถามละลาบละล้วงจนเกินไป ควรถามก็ต่อเมื่อตอนที่อีกฝ่ายพร้อมเปิดใจให้ ถึงตอนนั้นหน้าที่ของเราคือรับฟังอย่างเต็มใจค่ะ
เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ
การได้เรียนรู้หรือลองอะไรใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็นการเรียนภาษาต่างประเทศด้วยกัน พาเจ้าตัวน้อยไปเที่ยวที่ๆ ไม่เคยไปมาก่อน หรืออ่านหนังสือ ดูสารคดีเรียนรู้สังคมและวัฒนธรรมอื่นๆ ที่เราอาจจะยังไม่คุ้นชิน อย่าตั้งอคติกับสิ่งที่เราไม่เคยลอง การได้ทำความคุ้นเคยกับวัฒนธรรมต่างๆ จะสอนให้เจ้าตัวน้อยนั้นไม่รู้สึกกลัวอะไรที่ผิดแปลกไปจากความเข้าใจของเขา โลกเราไม่ได้มีแค่คนที่เหมือนเราอย่างเดียว แต่มีความหลากหลายไม่รู้จบ
ซึ่งการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องยากหรือซับซ้อน การให้เจ้าตัวน้อยได้ลองอาหารจานอร่อยจากประเทศหรือภูมิภาคอื่นๆ ก็ถือว่าเป็นการเรียนรู้วัฒนธรรมผ่านอาหารการกินได้แล้ว
อย่ากลัวที่จะเปลี่ยน
เป็นปกติที่พอเรายึดมั่นกับความเชื่อหนึ่งไปแล้ว ก็ต้องมีบ้างที่เราจะรู้สึกยึดติดกับมัน ไม่กล้าปล่อยไปเสียทีเดียว ความเปลี่ยนแปลงถึงแม้จะเป็นสิ่งที่น่ากลัวแต่การเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีย่อมส่งผลบวกให้เราเสมอ พยายามส่งเสริมให้คนในครอบครัวได้ลองอะไรใหม่ๆ ออกจาก comfort zone ที่คุ้นเคยบ้าง
แต่ด้วยลิมิตของคนเรานั้นมีไม่เท่ากัน โดยเฉพาะถ้าหากในครอบครัวมีคนที่มีปัญหาเกี่ยวกับความวิตกกังวลอยู่ การค่อยๆ เปิดใจควรทำอย่างค่อยเป็นค่อยไปทีละน้อย ไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนทันทีค่ะ