การอุ้มลูกถือว่าเป็นกิจกรรมที่คุณแม่ทำบ่อยที่สุดในตอนที่ลูกยังเดินไม่ได้ แล้วคุณแม่จะต้องอุ้มลูกแบบไหนขาลูกถึงจะไม่โก่งในอนาคต มาดูวิธีและสาเหตุของการขาโก่งไปพร้อมๆ กันเลยค่ะ
ขาโก่งปกติ Vs ขาโก่งผิดปกติ
- ขาโก่งปกติ คือ ช่วงที่ลูกอยู่ในวัยก่อน2 ขวบ จะพบว่ามีอาการขาโก่งแบบนี้ได้ เชื่อว่าเพราะขณะที่เค้าอยู่ในครรภ์ของคุณแม่นั้น อาจจะมีอาการขดตัว ทำให้เกิดการตึงของเส้นเอ็น และการรั้งของกล้ามเนื้อด้านในของข้อเข่า แต่พอลูกเริ่มยืน กล้ามเนื้อส่วนนี้มีการออกแรง ร่างกายก็จะปรับเข้าที่เข้าทางมากขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่จะเข้าที่จริงๆ ก็เมื่อลูกอายุประมาณ 2 ขวบขึ้นไป
- ขาโก่งผิดปกติ คืออาจจะเกิดจากเนื้อกระดูกผิดปกติ พบในเด็กที่เป็นโรคกระดูกอ่อน ข้อเข่าเสื่อม หรือเกิดจากความผิดปกติของข้อสะโพก สังเกตง่ายๆ คือเวลายืนหรือเดินเด็กจะหมุนขาเข้าใน ซึ่งหลัง 3 ขวบไปแล้ว ขาลูกยังมีลักษณะโก่ง คือบริเวณเข่าโค้งออก มีอาการเท้าปุก แนะนำให้คุณแม่พาลูกไปพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุที่แท้จริงว่าเกิดจากสาเหตุอะไร
ทดสอบลูกขาโก่ง จริงหรือไม่
วิธีการทดสอบง่ายๆ ที่คุณแม่สามารถทำได้ โดยให้คุณแม่จับลูกนอนเหยียดขาตรงๆ จับข้อเท้าให้ชิดกัน จับเข่าให้กระดูกสะบ้าหัวเข่าทั้ง 2 ข้างหันตรงไปด้านหน้า และวัดระยะระหว่างหัวเข่าด้านในของทั้งสองข้างไม่ควรเกิน 8 ซม.ถ้ามากเกินกว่านี้ และลูกน้อยอายุมากกว่า 2 ปี ควรหาสาเหตุต่อไปค่ะ
วิธีป้องกันไม่ให้ลูกขาโก่ง
ให้ลูกได้รับวิตามินดีอย่างเพียงพอ
การที่ลูกได้รับวิตามินดีอย่างเพียงพอนั้น เพื่อให้ร่างกายสามารถรักษาภาวะสมดุลของระดับแคลเซียมในเลือดและในกระดูก ถ้าขาดวิตามินดีจะทำให้เกิดโรคกระดูกอ่อน ขาจะโก่งหรือถ่างเนื่องจากไม่สามารถรับน้ำหนักตัวได้ โดยวิตามินดีจะมีอยู่ในอาหาร เช่น นม ตับสัตว์ ไข่แดง เป็นต้น และคุณแม่ควรพาลูกน้อยไปเดินเล่นนอกบ้านเพื่อรับวิตามินดีจากแสงแดดยามเช้าบ้าง ก็จะช่วยเสริมสร้างกระดูกของลูกน้อยให้แข็งแรง
จัดท่านั่งและท่านอนให้ลูก
คุณแม่ต้องคอยจัดท่านั่งและท่านอนของลูกน้อย ให้อยู่ในท่าที่ถูกต้อง เพื่อจะไม่ทำให้เกิดการโค้งงอหรือการผิดรูปของกระดูก
ยืดและนวดขาให้ลูกน้อย
การยืดและนวดขาให้ลูกน้อย คุณแม่สามารถทำได้ง่ายๆ ดังนี้
- นวดขาลูกทีละข้าง โดยจับขายกขึ้นแล้วใช้มืออีกข้างจับรอบขานวดคลึงเป็นวงกลม เริ่มจากต้นขาค่อยๆ ไล่ไปปลายเท้า แล้วใช้หัวแม่มือกดฝ่าเท้าลูกเบาๆ จากนั้นใช้ฝ่ามือทั้งสองข้างคลึงขาลูกไปมาเบาๆโดยให้สองมือของคุณแม่สวนทางกัน เริ่มจากหัวเข่าไล่ไปจนถึงข้อเท้า คลึงไปมา 5-10 ครั้ง
- หากเบบี๋อยู่ในวัยที่สามารถคลานหรือเริ่มหัดเดินแล้ว คุณแม่สามารถทำท่าแยกขาให้ลูกได้ โดยคุณแม่นั่งด้านหลังลูก แล้วจับขาลูกทั้งสองข้างค่อยๆ แยกออกด้านข้าง จากนั้นให้ลูกโน้มตัวไปด้านหน้า โดยที่คุณแม่ยังจับขาไว้ ซึ่งท่านี้จะช่วยให้เด็กได้ยืดตัวมากขึ้น
- ในขณะที่นวดหรือยืดขาของลูก หากลูกร้องหรือขาแดง แสดงว่าคุณแม่ออกแรงมากเกินไปจนทำให้ลูกเจ็บ ให้หยุดนวดหรือนวดให้เบาลงค่ะ
ระวังไม่ให้ลูกอ้วน
คุณแม่ต้องระวังไม่ให้ลูกอ้วน เพราะภาวะนี้จะพบมากในเด็กที่อ้วน การเฝ้าสังเกตดูอาการของลูกถ้าลูกเริ่มเดินขาโก่งแล้วรู้สึกว่ามันไม่ดีขึ้น อายุเริ่มเข้าใกล้ 2ขวบแล้ว ขายังคงโก่งมากอยู่ หรือขาโก่งไม่เท่ากันจะต้องรีบพาไปพบแพทย์ อย่างไรก็ตาม ถ้าปล่อยให้ภาวะขาโก่งนานๆ อาจมีการเจริญของขาฝั่งด้านผิดปกติทำให้กระดูกเกิดการผิดรูปและสั้นลงด้วย ทำให้ขาโก่งมากขึ้น และข้อเข่าที่ผิดรูปจะทำให้เสื่อมได้ง่ายขึ้น
ความเชื่อผิดๆ ว่าอุ้มเด็กเข้าเอวและใส่ผ้าอ้อม ทำให้ลูกขาโก่ง
ความเชื่อที่ว่าการอุ้มเด็กเข้าเอวจะทำให้เด็กขาโก่งและการใส่ผ้าอ้อมจะทำให้เด็กขาโก่ง จริงๆ เเล้วตามหลักการแพทย์แล้วเป็นความเชื่อที่ไม่ถูกต้อง เพราะขาโก่งในเด็กเป็นไปตามธรรมชาติที่เด็กทุกคนต้องเป็นตั้งแต่แรกเกิดอยู่แล้ว
เห็นได้ว่ามีหลากหลายวิธีที่ช่วยให้ลูกขาไม่โก่งได้ ลองทำตามกันดูนะคะ
ที่มา