พอเข้าสู่หน้าหนาวแล้ว เรื่องเชื้อโรคยังเป็นสิ่งที่คุณแม่ต้องระวังเป็นอย่างมาก เพราะทุกที่มักมีสิ่งปนเปื้อน ถ้าเกินลูกเอาอะไรเข้าปากแล้วไม่ยอมล้างมือละก็ เชื้อโรคเข้าปากแน่นอน เป็นเหตุให้เกิดโรคท้องเสีย “โนโรไวรัส” ได้ มาทำความรู้จักกับโรคนี้กันดีกว่าค่ะ
ท้องเสียโนโรไวรัสคืออะไร ?
การติดเชื้อท้องเสียโนโรไวรัส (Norovirus) ซึ่งมีชื่อเดิมว่า Norwalk virus เป็นการติดเชื้อท้องเสียที่ไม่ใช่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย การติดเชื้อไวรัสชนิดนี้จะเกิดขึ้นจากการรับประทานอาหาร น้ำดื่มที่มีเชื้อนี้ปนเปื้อน หรือผ่านการสัมผัสกับพื้นผิวที่มีการปนเปื้อน เช่น จาน ชาม ช้อน นั่นเอง
อาการของโนโรไวรัสเป็นอย่างไร?
ส่วนใหญ่มักทำให้มีอาการอาเจียน ปวดท้องและท้องเสีย ภายใน 12-48 ชั่วโมงหลังทานอาหารหรือน้ำที่มีการปนเปื้อนเชื้อนี้ หรือแม้แต่การสัมผัสกับสิ่งคัดหลั่งจากผู้ป่วยรายอื่นๆก็สามารถติดได้ และอาการท้องเสียมักจะดีขึ้นภายใน 24-72 ชั่วโมง หลังจากเริ่มมีอาการป่วย อาการที่พบบ่อย คือ
- คลื่นไส้ อาเจียน
- ถ่ายเหลวเป็นน้ำ
- ปวดท้อง
- ปวดศีรษะ
- มีไข้
- ปวดเมื่อยตัว
แม้ว่าอาการคลื่นไส้อาเจียนจะดูรุนแรงพอสมควร แต่การตรวจร่างกายมักจะไม่มีอาการปวดเฉพาะที่หรือปวดเกร็งของหน้าท้อง ทำให้แยกการวินิจฉัยแยกโรคจากสาเหตุอื่นๆ ที่มีอาการและอาการแสดงที่คล้ายกันได้ยาก เช่น ภาวะลำไส้กลืนกัน ไส้ติ่งอักเสบ การติดเชื้ออาหารเป็นพิษด้วยเชื้ออื่นๆ สำหรับรายที่มีอาการอาเจียนและถ่ายเป็นน้ำจำนวนมาก อาจทำให้ผู้ป่วยมีอาการขาดน้ำ เช่น มีไข้ อ่อนเพลียมาก มีชีพจรเบาเร็ว และมีความดันโลหิตต่ำได้
การวินิจฉัยโนโรไวรัส
สามารถวินิจฉัยโนโรไวรัสได้โดยการเก็บตัวอย่างอุจจาระส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ เพื่อดูการติดเชื้อ Norovirus
การรักษาโนโรไวรัส
- ปัจจุบันยังไม่มียาเฉพาะเจาะจงในการขจัดเชื้อไวรัสนี้ การรักษาจึงเป็นการดูแลตามอาการที่เกิดขึ้น และส่วนใหญ่อาการต่างๆ จะดีขึ้นได้ในเวลา 3-4 วัน
- ในรายที่อาการไม่รุนแรง จะให้ดื่มน้ำเกลือแร่ ในกรณีที่มีอาเจียนและท้องเสีย ให้ทานอาหารอ่อน และให้ยาแก้อาเจียน ยาแก้ปวดท้อง ตามอาการ
- ในรายที่มีภาวะขาดสารน้ำค่อนข้างมาก หรือมีอาเจียน ปวดท้อง และถ่ายตลอด อาจเกิดอันตรายจากการขาดน้ำ ทำให้ช็อค ความดันโลหิตต่ำ และเสียชีวิตได้ จึงควรพิจารณาให้เข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาล ให้น้ำเกลือทางหลอดเลือด และติดตามดูอาการอย่างใกล้ชิด
- ผู้ป่วยที่จะมีโอกาสเกิดอันตรายจากการขาดน้ำได้แก่ ผู้ป่วยเด็กเล็ก จึงจำเป็นที่จะต้องเอาใจใส่เป็นพิเศษ
การป้องกันโนโรไวรัส
- ขณะนี้ยังไม่มีวัคซีนสำหรับป้องกันเชื้อโนโรไวรัส
- การป้องกันโดยทั่วไปคือ การดูแลสุขอนามัย กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ จะช่วยลดปัญหาการติดเชื้อนี้ได้
- ล้างมือให้สะอาดบ่อยๆ ด้วยสบู่และน้ำอย่างน้อย 15 วินาที หลังการเข้าห้องน้ำหรือเปลี่ยนผ้าอ้อมเด็ก และก่อนทำอาหารหรือกินอาหาร
- หลีกเลี่ยงน้ำและอาหารที่ไม่สะอาด เพราะเชื้อจะสามารถอยู่ในสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะในน้ำได้นาน
- ล้างผัก ผลไม้สด ให้สะอาด ทำหอยนางรมหรือหอยชนิดอื่นให้สุกก่อนกิน
- ทิ้งเศษอาเจียนและอุจจาระอย่างระมัดระวังโดยใช้ผ้าชุปน้ำหมาดๆซับไม่ให้มีการฟุ้งกระจาย และทิ้งลงในถุงพลาสติก
- ผ้าอ้อมหรือเสื้อผ้าที่เปื้อนอุจจาระ แยกเสื้อผ้าคนป่วยซักต่างหากและต้องรีบซักให้สะอาดโดยเร็วหรือทิ้งให้เหมาะสม
- เช็ดทำความสะอาดพื้นที่ปนเปื้อนด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อที่มีส่วนผสมของคลอรีน
- ผู้ป่วยต้องงดการประกอบอาหาร เพราะสามารถแพร่เชื้อสู่ผู้อื่นได้หลังจากมีอาการเป็นระยะเวลา 3 วัน
- เด็กควรงดไปโรงเรียนหรือสถานที่รับเลี้ยงเด็กเพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อ
- หลีกเลี่ยงการเดินทางจนกว่าจะหายเป็นปกติ
เห็นโรคน่ากลัวแบบนี้ ทางที่ดีคุณแม่ควรป้องกันไว้ก่อน ใส่ใจเรื่องความสะอาดเป็นเรื่องใหญ่ ทั้งอาหารการกิน การล้างมือให้สะอาด และหมั่นทำความสะอาดบ้านบ่อยๆ เพียงเท่านี้ก็ห่างไกลจากโรคนี้แล้วล่ะค่ะ
ที่มา – bumrungrad