มีคุณพ่อคุณแม่คนไหนเล่นโทรศัพท์มือถือตลอดเวลาบ้างไหมคะ ไม่ว่าจะทำอะไรก็ต้องมีโทรศัพท์อยู่ในมือตลอด หรือไม่ก็ต้องวางไว้ใกล้ตัว อีกทั้งยังหยิบโทรศัพท์ขึ้นมาดูบ่อยๆ ทั้งๆ ที่ไม่มีความจำเป็น หากมีอาการเหล่านี้ แสดงว่าอาจกำลังมีอาการติดโทรศัพท์มือถือ (Nomophobia) อยู่ก็ได้ค่ะ
แพทย์หญิงทิพาวรรณ บูรณสิน สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ กรมสุขภาพจิต กล่าวว่า โนโมโฟเบีย (Nomophobia) มาจากคำว่า “no mobile phone phobia” ใช้เรียกอาการที่เกิดจากความหวาดกลัว วิตกกังวลเมื่อขาดโทรศัพท์มือถือ ซึ่งพบมากที่สุด กว่าร้อยละ 70 ในกลุ่มเยาวชน 18-24 ปี รองลงมาคือ กลุ่มคนวัยทำงานช่วงอายุ 25 – 34 ปี
ทางด้านแพทย์หญิงพรรณพิมล วิปุลากร รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข และโฆษกกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่าปัจจุบันโทรศัพท์สมาร์ทโฟนกลายเป็นสิ่งจำเป็นในการติดต่อสื่อสาร แต่คนบางกลุ่มมีพฤติกรรมติดอยู่กับการเล่นโทรศัพท์มือถือตลอดเวลา เช่น พกติดตัว ต้องวางไว้ใกล้ตัวเสมอ รู้สึกกังวลเมื่อมือถือไม่ได้อยู่กับตัวหรือแบตเตอรี่หมด คอยเช็กข้อความจากโซเชียลมีเดีย หยิบโทรศัพท์ขึ้นมาดูบ่อยแม้ไม่มีเรื่องด่วน ตื่นนอนจะเช็กโทรศัพท์ก่อนและยังคงเล่นโทรศัพท์ก่อนนอน ติดเกม หรือในแต่ละวันใช้เวลาพูดคุยกับผู้คนผ่านโทรศัพท์ในโลกออนไลน์มากกว่าพูดคุยกับคนรอบข้าง
ซึ่งพฤติกรรมเหล่านี้ จะถูกวินิจฉัยว่าเป็นอาการติดโทรศัพท์มือถือ (Nomophobia) และบางรายอาจมีอาการเครียด ตัวสั่น เหงื่อออก คลื่นไส้ หากไม่มีโทรศัพท์มือถืออยู่กับตัว โทรศัพท์เเบตหมด หรือว่าอยู่ในที่ไร้สัญญาณ
อาการติดโทรศัพท์มือถือจะส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ของบุคคลรอบข้าง รวมไปถึงปัญหาด้านสุขภาพ เช่น
- นิ้วล็อก เกิดจากการใช้นิ้วกด จิ้ม สไลด์ หน้าจอเป็นระยะเวลานาน
- อาการทางสายตา เช่น ตาล้า ตาพร่า ตาแห้ง เกิดจากเพ่งสายตาจ้องหน้าจอเล็กๆ ที่มีแสงจ้านานเกินไป อาจส่งผลให้วุ้นในตาเสื่อม จอประสาทตาเสื่อม
- ปวดเมื่อยคอ บ่า ไหล่ จากการก้มหน้า ค้อมตัวลง ส่งผล เลือดไหลเวียนไม่สะดวก หากเล่นนานๆ อาจมีอาการปวดศีรษะตามมา รวมไปถึงหมอนรองกระดูกเสื่อมสภาพก่อนวัยอันควร
- โรคอ้วน แม้พฤติกรรมจะไม่ส่งผลโดยตรง แต่การนั่งทั้งวันโดยไม่ลุกเดินไปไหน เป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคอ้วนและโรคเรื่อรังอื่นๆได้
ดังนั้นหากรู้ว่าตัวเองหรือคนรอบข้างกำลังมีอาการติดโทรศัพท์มือถือก็ควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ซึ่งทำได้ง่ายๆ เช่น กำหนดเวลาในการใช้โซเชียลมีเดียในแต่ละวัน กำหนดสถานการณ์ที่จะไม่เล่นโทรศัพท์ เช่น เวลากินข้าว เวลาเดิน ก่อนนอนหรือตื่นนอนใหม่ๆ นอกจากนี้ควรหากิจกรรมทำกับคนในครอบครัวแทนการใช้อุปกรณ์สื่อสารทุกชนิด
อ้างอิงจาก