เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ที่แพร่ระบาดอย่างหนัก ทำให้ส่งผลกับพฤติกรรมการใช้ชีวิตกับเด็กๆ อย่างที่แม่ๆ เห็นกันในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา อีกทั้งโรงเรียนก็ถูกสั่งปิดอีก ทำให้เด็กๆ ยิ่งขาดกิจกรรมนอกบ้านและไม่มีฏิสัมพันธ์กับเพื่อนแบบเจอหน้ากัน และหันไปสนใจหน้าจอคอมพิวเตอร์ มือถือ และแท็บเล็ต เพื่อความบันเทิง นั่นเอง
สำหรับผลการสำรวจครั้งใหม่ที่สำรวจจากเด็กอายุระหว่าง 8-18 ปี จำนวน 1,306 คน พบว่าเบื้องต้นเด็กๆ ไม่ได้ใช้เวลาในโลกออนไลน์กับการติดต่อพูดคุยกับเพื่อนมากเท่าไรนัก โดยส่วนใหญ่ จะใช้เวลาอย่างน้อย 3 ชั่วโมงต่อวันโดยเฉลี่ยไปกับการชมโทรทัศน์ วิดีโอ และใช้เวลาอีกเกือบ 2 ชั่วโมงต่อวันในการเล่นเกม โดยจะใช้เวลาพูดคุยกับเพื่อนเพียง 20 นาทีเท่านั้น
ทำให้นักวิจัยมีความกังวลใจในพฤติกรรมเด็กอายุต่ำกว่า 13 ปีค่อนข้างมาก เนื่องจากแพลตฟอร์มต่างๆ ในโซเชียลมีเดีย มักจะมีการใช้กราฟิก และเนื้อหาที่รุนแรง ซึ่งเด็กที่อายุยังน้อย ยังไม่อยู่ในวัยที่พร้อมที่จะเห็นสิ่งต่างๆ เหล่านี้
และอีกหนึ่งแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียที่ค่อนข้างน่ากังวลก็คือยูทูบ เพราะเด็กเล็กจะยังแยกแยะไม่ออกว่าอันไหนคือความจริง อันไหนคือของปลอม ดังนั้นการเสพสื่อชนิดนี้อาจจะทำให้เด็กได้รับข้อมูลที่บิดเบือน และต้องเผชิญกับความสับสนเมื่อเผชิญกับโลกความจริง นอกจากนี้การที่เด็กเอาตัวไปเปรียบเทียบกับชีวิตของคนอื่น หรือรู้สึกว่าไม่มีโอกาสเหมือนกับคนอื่น อาจจะทำให้รู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจได้
เพราะฉะนั้น พ่อแม่ควรทำข้อตกลงในการใช้เทคโนโลยีกับลูก อย่างเช่นกำหนดระยะเวลาการใช้งาน หรือเด็กเล็กจะสามารถดูยูทูบได้ก็ต่อเมื่อมีพ่อแม่อยู่ในห้องด้วยเท่านั้น หรือหากเด็กใช้หน้าจอโดยไม่มีผู้ใหญ่อยู่ด้วย แอปพลิเคชันใดที่สามารถจำกัดขอบเขตเนื้อหาได้ ผู้ปกครองก็ควรตั้งให้เป็นเนื้อหาสำหรับเด็กเท่านั้น อย่างเช่น ในเน็ตฟลิกซ์ หรือดิสนีย์พลัส
สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือผู้ปกครองควรคอยสังเกตสม่ำเสมอว่าลูกหลานมีการเข้าไปใช้งานอะไรในโลกโซเชียลบ้าง รวมทั้งถามความสนใจของเด็กๆ ว่าพวกเขาสนใจในเรื่องใดบ้าง สิ่งที่สำคัญกว่า คืออยากให้พ่อแม่ร่วมใช้เวลากับลูกๆ ในการเข้าใช้งานหน้าจอต่างๆ ไปกับลูกด้วย อีกทั้งยังสามารถคอยระวังอันตรายต่างๆ ให้พวกเขาได้นั่นเองค่ะ
อ้างอิงจาก : https://www.thairath.co.th/news/foreign/2351426