สืบเนื่องจากข่าวในคืนวันที่ 21 กรกฎาคม 2565 ประเทศไทยพบผู้ป่วยฝีดาษลิงรายแรก วันที่ 22 กรกฎาคม 2565 ศาลากลางจังหวัดภูเก็ต จึงได้ออกแถลงความคืบหน้าของผู้ป่วยฝีดาษวานรรายแรกในประเทศไทยค่ะ
โดยผู้ป่วยฝีดาษลิงเป็นชายชาวไนจีเรียอายุ 27 ประกอบอาชีพเป็นนักธุรกิจ และได้พักอาศัยในคอนโดมิเนียมบริเวณป่าตองตั้งแต่วันที่ 21 ตุลาคม 2564 จนถึงปัจจุบันโดยพักอาศัยเกินวีซ่าหรือ overstay ในประเทศไทยมาเป็นเวลาหนึ่งแล้ว และไม่ให้ความร่วมมือในการตรวจนัก
จากผลการตรวจพบว่าเริ่มมีอาการตั้งแต่ 9 กรกฎาคม มีไข้ เจ็บคอ และมีตุ่มหนองบริเวณอวัยวะเพศก่อนจะเริ่มลามไปทั่วร่างกาย จึงค่อยมาตรวจที่โรงพยาบาลเอกชน รับการรักษาแต่ยังพักอาศัยอยู่ที่คอนโดมิเนียมในวันที่ 16 กรกฎาคม โดยทางโรงพยาบาลวชิระภูเก็ตได้เตรียมสถานที่ให้รักษา แต่คนไข้ได้หายตัวไปในวันที่ 19 กรกฎาคม
ขณะนี้ตำรวจและเจ้าหน้าที่กำลังติดตามคนไข้อยู่ โดยสันนิษฐานจากภาพบันทึกในกล้องวงจรปิดว่ายังอยู่ในภูเก็ตหรืออาจออกนอกพื้นที่ไปแล้ว แต่ยังไม่ออกจากประเทศโดยแน่นอน ด้วยเจ้าหน้าที่เตรียมการเฝ้าระวังเรียบร้อยแล้ว
ฝีดาษวานรเป็นเชื้อไวรัส มีอาการคล้ายอีสุกอีไส โดยอาการของฝีดาษวานรมีดังนี้ค่ะ:
- มีไข้ หรือมีประวัติว่ามีไข้ ร่วมกับอาการอย่างน้อยหนึ่งอย่าง ได้แก่
- เจ็บคอ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว ปวดหลัง ต่อมน้ำเหลืองโต
- มีผื่นหรือตุ่มที่ผิวหนัง หรือเคยมีผื่นหรือตุ่มกระจายตามใบหน้า ศีรษะ ลำตัว รักแร้ ขาหนีบ อวัยวะเพศและรอบทวารหนัก แขน ขา ฝ่ามือหรือฝ่าเท้า โดยเป็นผื่นลักษณะตุ่มนูน ตุ่มน้ำใส ตุ่มหนองหรือตุ่มตกสะเก็ด
- ต่อมน้ำเหลืองโต
ฝีดาษวานรนั้นมี 2 สายพันธุ์ มีสายพันธุ์ West African clade ที่ไม่รุนแรงและสายพันธุ์ Central African clade ที่รุนแรง โดยผู้ป่วยรายนี้เป็นโรคฝีดาษลิงสายพันธุ์ไม่รุนแรง West African clade ค่ะ
ซึ่งการติดต่อของโรคฝีดาษวานรนั้นนับว่าติดต่อได้ยากกว่าโควิด-19 เพราะสามารถติดเชื้อได้จากการสัมผัสใกล้ชิด สัมผัสโดนตุ่มหนองและสารคัดหลังจากตุ่มหนอง การไอจาม และผู้ป่วยจะสามารถแพร่เชื้อได้ในช่วงที่มีตุ่มหนอง
ควรระมัดระวังในการอยู่บ้านร่วมกัน ใส่เสื้อผ้าร่วมกัน และใช้โถสุขภัณฑ์ร่วมกัน เพราะมีโอกาสติดได้หากมีแผลแล้วสัมผัสแผลหรือของเหลวจากตุ่มหนองผ่านการใช้โถสุขภัณฑ์ แต่สำหรับผู้คนที่เป็นห่วงว่าเชื้อจะติดตามเสื้อผ้า การซักผ้าด้วยน้ำยาซักผ้าหรือผงซักฟอกปกติสามารถฆ่าเชื้อฝีดาษวานรตามเสื้อผ้าได้ค่ะ
ในกรณีที่คิดว่าตัวเองเป็นกลุ่มเสี่ยง สามารถปฏิบัติได้ตามนี้:
กลุ่มเสี่ยงสูง
- หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับหญิงตั้งครรภ์ ด้วยการติดเชื้อสามารถส่งผลให้เด็กในครรภ์ติดเชื้อฝีดาษวานรได้เช่นกัน เด็กที่อายุต่ำกว่า 12 ปี ผู้มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง
- หลีกเลี่ยงการไปพื้นที่แออัด
- ติดตามอาการโดยเจ้าหน้าที่ (Active-monitoring) ทุก 7 วันจนครบ 21 วัน
กลุ่มเสี่ยงต่ำ
- สังเกตอาการตนเองเป็นเวลา 21 วัน (Passive-monitoring) หากเริ่มมีอาการให้แจ้งเจ้าหน้าที่และเข้ารับการตรวจ
โรคฝีดาษวานรนั้นเป็นโรคที่สามารถหายเองได้ แต่ในประเทศไทยนั้นยังไม่มียารักษาโรคโดยตรง ต้องใช้การรักษาแบบประคับประคองตามอาการไปก่อน
สำหรับผู้ที่ปลูกฝีป้องกันฝีดาษ จะป้องกันโรคฝีดาษวานรได้ถึง 85% โดยสามารถสังเกตรอยแผลเป็นที่ต้นแขนของตัวเองได้ แผลเป็นจากการปลูกฝีดาษจะเป็นแผลราบ ในขณะที่แผลเป็นจากการปลูกฝีป้องกันวัณโรคจะเป็นแผลนูน
อ้างอิงจาก Nbt Phuket Thailand