อากาศในช่วงนี้มีการเปลี่ยนแปลงบ่อย เดี๋ยวเย็นเดี๋ยวร้อนจนร่างกายอาจปรับตัวไม่ทัน จึงทำให้เจ็บป่วยได้ง่าย ยิ่งในเด็กเล็กก็ควรระมัดระวังโรคติดต่อระบบทางเดินหายใจเป็นพิเศษ โดยเฉพาะโรคไข้หวัดใหญ่
จากสถานการณ์โรคไข้หวัดใหญ่ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 14 กุมภาพันธ์ 2565 พบผู้ป่วย 565 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิต โดยพบมากที่สุดในเด็กเล็ก อายุ 1 ปี รองลงมาคือ อายุ 15-24 ปี และ 25-34 ปี จังหวัด ที่มีอัตราป่วยต่อประชากรแสนคนสูงสุด 5 อันดับแรก คือ เชียงราย นราธิวาส พิษณุโลก สุโขทัย และศรีสะเกษ ตามลำดับ
โรคไข้หวัดใหญ่เกิดจากเชื้อไวรัส (Influenza virus) โดยเชื้อไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล สามารถติดต่อจากการสัมผัสสารคัดหลั่ง น้ำมูก น้ำลาย หรือเสมหะของผู้ป่วย แพร่เชื้อผ่านการไอ จาม รดกัน หรือได้รับเชื้อจากการสัมผัสสิ่งของเครื่องใช้ที่ปนเปื้อนเชื้อ เช่น ของเล่น แก้วน้ำ ลูกบิดประตู
โดยหลังจากได้รับเชื้อจะมีไข้สูง ไอ ปวดหัว ปวดกล้ามเนื้อ ไม่มีแรง เยื่อบุโพรงจมูกอักเสบและเจ็บคอ ในกลุ่มเด็กอาจพบอาการระบบทางเดินอาหารร่วมด้วย เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ท้องร่วง บางรายสามารถหายเองได้ใน 5-7 วัน หรือหากอาการไม่ดีขึ้นภายใน 48 ชั่วโมง ควรรีบพบแพทย์ทันที
นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ได้แนะนำให้คุณพ่อคุณแม่ป้องกันตนเองและลูก โดยยึดหลัก “ปิด ล้าง เลี่ยง หยุด” ได้แก่
- ปิดปาก ปิดจมูก เมื่อไอ จาม โดยใช้ผ้าหรือกระดาษทิชชูทุกครั้ง ควรใส่หน้ากากอนามัย
- ล้างมือด้วยสบู่และน้ำเป็นประจำ หรือใช้เจลแอลกอฮอล์ สเปรย์แอลกอฮอล์ ถูมือให้ทั่วก่อนรับประทานอาหาร และภายหลังเข้าห้องน้ำ ห้องส้วม หรือหยิบจับสิ่งของต่างๆ
- หลีกเลี่ยงการคลุกคลีใกล้ชิดกับผู้ป่วย หรือในสถานที่ที่มีคนอยู่หนาแน่น เว้นระยะห่างระหว่างจากผู้อื่น
- หยุดเรียน หยุดงาน หยุดกิจกรรม เมื่อป่วยแม้มีอาการไม่มาก ควรหยุดพักรักษาตัวอยู่บ้านจนกว่าจะหายเป็นปกติ
อ้างอิงจาก