สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้เปิดเวที Thaihealth Watch Talk ในหัวข้อ “เครื่องมือเพื่อการเรียนรู้สำหรับเด็กในช่วง COVID-19” เผยให้เห็นว่าเด็กในช่วงเวลาดังกล่าวกำลังเผชิญหน้ากับภาวะเนือยนิ่ง เครียด ไร้สุข ซึ่งมาจากสถานการณ์รอบตัวเหล่านี้เอง
ด้วยการเรียนออนไลน์นั้นต่างมีอุปสรรคมากมาย ทั้งเรื่องอุปกรณ์ ความไม่คุ้นชิน ขาดกิจกรรมทางกาย เพราะใช้เวลาส่วนมาอยู่บนเก้าอี้ ส่งผลให้เด็กเฉื่อยชา การเรียนรู้ไม่เกิดประสิทธิภาพ ซึ่งสสส. ก็ได้เสนอเครื่องมือที่จำเป็นสำหรับการเรียนรู้ของเด็กเมื่ออยู่ในบ้าน นั่นคือ “การอ่าน–อิสระ–การเล่น” นั่นเอง
อิสระ: คุณประสพสุข โบราณมูล ผู้ประสานงานเครือข่ายเล่นเปลี่ยนโลก ได้เสนอเครื่องมือการเรียนรู้ที่เด็กในครอบครัวทุกคนสามารถเริ่มทำได้เลยภายในบ้าน ก็คือการเล่นอิสระนั่นเอง การเล่นนั้นนับเป็นการเรียนรู้สำหรับเด็ก แต่ในสถานการณ์เหล่านี้ที่เด็ก ๆ ไม่สามารถออกไปเล่นนอกบ้านได้ ควรจัดมุมอิสระให้ลูกได้เล่นอยู่ในบ้าน โดยใช้สิ่งที่มีอยู่แล้วอย่าง กล่อง กระดาษ ขวดน้ำ ถังทราย หรือของใช้อื่น ๆ มาดัดแปลงเป็นของเล่น ให้ลูกน้อยได้เสริมสร้างจินตนาการ เปิดโอกาสให้เด็กเรียนรู้ และลดความตึงเครียดจากสถานการณ์โควิด-19 ได้อีกด้วย
การอ่าน: คุณสุดใจ พรหมเกิด ผู้จัดการแผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่านสสส. ได้แนะนำการอ่านเป็นสิ่งสำคัญ ให้คุณพ่อคุณแม่จัดเวลาอ่านหนังสือกับลูกน้อยอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อย 10 นาทีต่อวัน โดยเด็กเล็กให้อ่านออกเสียงให้ลูกฟัง การอ่านจะช่วยให้เด็กเปิดโลกทัศน์ให้ไกลจากบ้านที่คุ้นเคย
การเล่น: คุณสายใจ คงทน ผู้ริเริ่มโครงการมหัศจรรย์สื่อสร้างสรรค์ในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก 3 ดีวิถีสุขกับการใช้พื้นที่สร้างสรรค์เพื่อการเรียนรู้ในเด็ก ได้เผยว่าในปัจจุบันเด็กเล็กและทุกคนในครอบครัวต่างใช้สื่อหน้าจอมากขึ้น เจอหน้ากันน้อยลง จึงอยากผลักดันให้ครอบครัวได้จัดมุมเล่นหรือพื้นที่สร้างสรรค์ภายในบ้าน
การละเล่นนั้นไม่จำเป็นต้องเป็นการเล่นของเล่นเสียทีเดียว แต่เป็นกิจกรรมในชีวิตประจำวันอย่างการทำอาหาร ปลูกต้นไม้ หรือทำงานศิลปะร่วมกัน โดยคุณพ่อคุณแม่สามารถเป็นสื่อสร้างสรรค์ให้ลูกน้อยได้เช่นกัน เพื่อสร้างความสัมพันธ์และเหตุการณ์ดี ๆ ในช่วงวิกฤตินี้ได้ค่ะ
อ้างอิงจาก https://bit.ly/3yJ0i2u