ช่วงปิดเทอมหรือเริ่มเข้าสู่ฤดูร้อน คุณพ่อคุณแม่สังเกตไหมคะว่า เหตุการณ์เกี่ยวกับเด็กจมน้ำเกิดขึ้นถี่ว่าช่วงอื่นๆ และยังเป็นสาเหตุการเสียชีวิตส่วนใหญ่ของเด็กด้วย ทำให้การป้องกันและเรียนรู้ทักษะเกี่ยวกับการป้องกันเด็กจมน้ำไม่ได้เป็นเรื่องที่ห่างไกลคุณพ่อคุณแม่แต่อย่างใด
ทำให้ รศ.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ ผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว ม.มหิดล ได้นำสาระน่ารู้เรื่อง “ป้องกันลูกจมน้ำ” มาแนะนำให้คุณพ่อคุณแม่ได้เรียนรู้และปฏิบัติตามดังนี้ค่ะ
1. เรียนรู้สิ่งแวดล้อมและพฤติกรรมเสี่ยงต่อการจมน้ำ สอนให้เด็กรู้ว่าแหล่งน้ำไหนเสี่ยง ไม่ควรไปวิ่งเล่นใกล้ๆ โดยอาจจะพาเด็กเดินสำรวจสิ่งแวดล้อมในชุมชน และพาเขาไปดูว่าจุดไหนที่อันตราย และจุดไหนที่ปลอดภัย เพราะเด็กวัยนี้จะเข้าใจ ในเหตุและผลได้แล้ว
2. ลอยตัวในน้ำได้อย่างน้อย 3 นาที เพื่อรอการช่วยเหลือ เนื่องจากสาเหตุของการจมน้ำส่วนใหญ่ เกิดจากการที่เด็กมักจะเล่นกันใกล้ฝั่งและพลาดตกลงไปในน้ำ แต่ไม่สามารถที่จะลอยตัวขึ้นมาเพื่อจะเข้าฝั่งได้ เพราะฉะนั้นถ้าลอยตัวได้ 3 นาที เด็กจะสามารถช่วยตัวเองได้
3. ว่ายได้ 15 เมตร นอกจากการลอยตัวให้ได้ 3 นาทีแล้ว เพื่อเป็นทักษะในการว่ายเข้าฝั่งหากพลัดตกลงไปในน้ำ
4. รู้อันตราย เด็กต้องรู้ว่า การกระโดดลงไปช่วยเพื่อนที่กำลังจมน้ำนั้นเป็นเรื่องที่อันตราย และยึดหลัก 3 ข้อ คือ “ตะโกน โยน ยื่น” ตะโกน ให้ผู้ใหญ่มาช่วย โยน สิ่งของที่อยู่รอบตัว เช่น ถังน้ำ แกลลอน เพื่อให้เพื่อนเกาะและสามารถใช้ลอยตัวได้ ยื่น สิ่งยาวๆ ให้เพื่อนจับแล้วดึงเข้ามาใกล้ฝั่ง (โดยจุดที่เขายืนก็ต้องมั่นคงด้วย)
5. การใช้ชูชีพ เพื่อการเดินทางทางน้ำ ไม่ว่าจะเรือชนิดใด จะว่ายน้ำเป็นไม่เป็น ก็มีความเสี่ยงที่จะจมน้ำได้เช่นกัน ดังนั้น การฝึกให้เด็ก ใส่ – ถอด ชูชีพให้ถูกวิธี หัดลอยตัวเมื่อใส่ชูชีพให้ได้
ถือได้ว่าหากมีทักษะด้านการว่ายน้ำเพิ่มขึ้นมาให้กับเด็กๆ และวิธีป้องกันให้กับผู้ปกครอง ก็จะทำให้เสี่ยงต่อการจมน้ำน้อยลงนั่นเองค่ะ หรือหากบ้านไหนช่วงนี้ไปเที่ยวทะเลกัน ก็ไม่ประมาทนะคะ ใส่ชูชีพเมื่ออยู่บนเรือ และเฝ้าดูแลเด็กๆ ไม่ให้คลาดสายตาด้วยค่ะ มิเช่นนั้นอาจจะเกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิดได้แบบไม่รู้ตัวเลยค่ะ
อ้างอิงจาก : https://www.matichon.co.th/lifestyle/children-teenagers/news_3209819