โรคฮีทสโตรกหรือลมแดด เป็นโรคที่มักจะมากับหน้าร้อน ที่เกิดขึ้นได้กับทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ซึ่งอันตรายถึงขั้นเสียชีวิต ควรหลีกเลี่ยงการอยู่กลางแดดจัดเป็นเวลานานและดื่มน้ำเปล่าบ่อยๆ
กรมอุตุนิยมวิทยาประเมินว่าตั้งแต่มีนาคม ประเทศไทยจะเข้าสู่ฤดูร้อน สภาพอากาศร้อนอบอ้าวและร้อนจัดในบางพื้นที่ โดยอุณหภูมิสูงสุดอาจจะสูงถึง 40-42 องศาเซลเซียส ซึ่งในช่วงอากาศร้อนจัด โดยนายแพทย์เจษฎา โชคดำรงสุข ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่าประชาชนเสี่ยงเป็นโรคลมแดดหรือฮีทสโตรก (Heat Stroke) เนื่องจากสภาวะอากาศร้อน ซึ่งเป็นอันตรายอย่างรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต
สาเหตุของโรคนี้เกิดจากการที่ร่างกายมีอุณหภูมิสูงกว่า 40 องศาเซลเซียสและไม่สามารถปรับตัวได้ ผู้ป่วยจะมีอาการเมื่อยล้า อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน วิตกกังวล สับสน ปวดศีรษะ ความดันโลหิตต่ำ หน้ามืด อาจมีอาการเพิ่มเติม เช่น ภาวะขาดเหงื่อ เพ้อ ชัก ไม่รู้สึกตัว หายใจเร็ว หัวใจเต้นผิดจังหวะ ช็อก หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีอาจเสียชีวิตได้
วิธีการป้องกันไม่ให้เป็นโรคนี้คือ ควรหลีกเลี่ยงการอยู่กลางแดดที่ร้อนจัด โดยเฉพาะเด็ก ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีโรคประจำตัวด้านหลอดเลือดหรือหัวใจ ควรใส่หมวกหรือกางร่มเมื่ออยู่กลางแดด ให้ดื่มน้ำเปล่ามากๆ ตลอดทั้งวัน และห้ามทิ้งเด็กเล็กหรือผู้ที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ไว้ในรถที่จอดกลางแดดเด็ดขาด
สำหรับกลุ่มเสี่ยงที่มักจะเป็นโรคฮีทสโตรกได้แก่
- เด็กอายุต่ำกว่า 5 ปีและผู้สูงอายุ
- ผู้ที่นอนพักผ่อนไม่เพียงพอ
- คนอ้วน
- ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคความดันโลหิตสูง
- ผู้ที่ทำงานหรือทำกิจกรรมกลางแดด เช่น เล่นกีฬา การฝึกทหาร ที่ไม่ได้เตรียมตัวมาก่อน ผู้ทำงานกลางแดด เช่น กรรมกร ก่อสร้าง เกษตรกร
- ผู้ที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จัด
วิธีการช่วยเหลือผู้ป่วยโรคฮีทสโตรกมี 5 ขั้นตอน ดังนี้
- นำผู้ป่วยเข้าร่ม นอนราบ ยกเท้าสูงทั้งสองข้าง ถอดเสื้อผ้าชั้นนอกออก ถ้าผู้ป่วยหมดสติให้เปิดทางเดินหายใจให้โล่ง จัดให้นอนท่าตะแคงเพื่อป้องกันลิ้นตกและป้องกันการสำลัก
- เช็ดตัวด้วยผ้าชุบน้ำเย็น หรือสเปรย์ร่างกายด้วยน้ำแล้วเป่าลม
- ใช้ผ้าชุบน้ำเย็นหรือน้ำแข็งประคบตามซอกคอ รักแร้ ขาหนีบ
- หลีกเลี่ยงการใช้ผ้าเปียกคลุมตัวผู้ป่วย เพราะจะขัดขวางการระเหยของน้ำออกจากร่างกาย
- รีบนำส่งโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดหรือโทรศัพท์ขอความช่วยเหลือสายด่วน 1669
อ้างอิงจาก