วิกฤตโควิดอยู่คู่กับโลกเรามาเนิ่นนานจนกลายเป็นความเคยชินอันแสนศร้า สร้างความหวาดกลัว หวาดระแวง และฉกชิงช่วงเวลาแห่งการเติบโตของเด็กๆ ไปไม่น้อย นอกจากเรื่องสุขภาพที่ชวนเป็นกังวลแล้ว สภาพจิตใจของเด็กๆ ก็เป็นสิ่งที่พ่อแม่ควรเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดเช่นเดียวกัน
เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน แพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า จากผลสำรวจความฉลาดทางอารมณ์ (อีคิว) ของเด็กชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ทั่วประเทศ กว่า 83.4% เป็นเด็กที่มีอีคิวดี มีความสุข สามารถปรับตัวเข้ากับสถานการณ์ได้ เห็นได้ชัดว่ามีแนวโน้มที่ดีขึ้นในช่วงปีที่ผ่านมา แม้จะต้องพบกับการเปลี่ยนแปลงทางสังคมหลายด้านในช่วงสถานการณ์โควิดก็ตาม เป็นผลจากการที่ในช่วง 5 ขวบแรกมีความใกล้ชิดกับครอบครัว และได้รับการดูแลเป็นอย่างดี
กลับกันทางด้านของเด็กโต วิกฤตโควิดค่อนข้างส่งผลกระทบกับเด็กในระดับชั้นประถมศึกษาปีอื่นๆ รวมถึงระดับชั้นมัธยมศึกษามากพอสมควร จนสามารถกล่าวได้ว่าอยู่ในสถานการณ์ที่ค่อนข้างน่าเป็นห่วง สะท้อนจากภาวะเครียด ความเสี่ยงต่อการเป็นโรคซึมเศร้ามากขึ้น ซ้ำยังมีความคิดฆ่าตัวตายมากขึ้นอีกด้วย ซึ่งสาเหตุหลักเกิดจากสารพัดปัญหาในชีวิตที่เด็กต้องแบกรับด้วยตัวเอง แพทย์หญิงอัมพร กล่าวเสริมว่า แนวโน้มในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เด็กโตขึ้นเริ่มมีอีคิวลดลงไปตามวัย
จากสถานการณ์ดังกล่าว พ่อแม่และคุณครูมีส่วนสำคัญอย่างมากในการช่วยเหลือเด็กๆ ร่วมด้วยช่วยกันทำให้พื้นที่ต่างๆ เป็นมิตรกับเด็กที่กำลังเติบโต สร้างสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสม เฝ้าระวังภัยรอบตัวโดยเฉพาะโลกไซเบอร์ที่เต็มไปด้วยสิ่งล่อลวง ยั่วยุเด็กให้หันเดินไปทางที่ผิด มีการเปรียบเทียบแข่งขัน ชิงดีชิงเด่น ซึ่งอาจทำร้ายสภาพจิตใจของเด็กวัยรุ่นอยู่โดยที่พวกเขาไม่รู้ตัว
อ้างอิงจาก : mgronline