ต้อนรับเปิดเทอมออนไซต์กันถ้วนหน้า ในวันที่สถานการณ์แพร่ระบาดโรคโควิด-19 ดีขึ้นมาบ้าง ซึ่งเชื่อเลยว่าแต่ละโรงเรียนของเด็กๆ คงมีมาตรการณ์ป้องกันหรือตรวจ ATK ก่อนเข้าโรงเรียนกัน เพื่อไม่ให้เด็กๆ มีความเสี่ยงนั่นเอง
ขณะที่ ปลัด ศธ.รับห่วงโรงเรียนขนาดใหญ่ เด็กพักเที่ยงพร้อมกันจำนวนมาก หลังพบเด็กมักติดเชื้อระหว่างทานข้าว ส่วน “หมอธีระ” แนะ 5 ข้อการอยู่ร่วมกับโรคโควิด-19 ย้ำถึงเป็นโรคประจำถิ่น ไม่ได้แปลว่าไม่อันตราย เมื่อไทยพบผู้ป่วยโควิดเสียชีวิตยังสูงอันดับ 3 ของโลก อันดับ 1 ของเอเชีย ขณะที่เกาหลีเหนือส่ออาการหนัก หลังพบผู้ติดเชื้อโควิดพุ่งพรวด สัปดาห์เดียวทะลุ 1.2 ล้านคน ตายสะสมครึ่งร้อย
รศ.นพ.ธีระระบุต่อว่า การอยู่ร่วมกับโรคโควิด-19 คือ
- ควรอยู่อย่างรู้เท่าทัน ใช้ความรู้ที่ถูกต้องเพื่อตัดสินใจประพฤติปฏิบัติตัวอย่างเหมาะสม เพื่อให้ตนเองและครอบครัวมีสวัสดิภาพและความปลอดภัยในชีวิต
- ประเมินความเสี่ยงในการใช้ชีวิต เลือกรับความเสี่ยงที่อยู่ในวิสัยที่ตนเองรับได้และจัดการได้ โดยไม่สร้างความเดือดร้อนแก่คนใกล้ชิด และคนอื่นในสังคม
- ไม่หลงงมงาย แสร้งว่าสงครามโรคจบแล้ว ทั้งที่ไม่จบ
- ไม่ว่าพื้นที่ใด ที่ไม่สามารถจัดการควบคุมป้องกันโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ ก็ย่อมส่งผลให้มีการระบาดที่รุนแรง ยาวนาน กระจายทั่วไปจนจับต้นชนปลาย หาต้นเหตุได้ยากนั้น สะท้อนถึงการที่พื้นที่ต่างๆเป็นแดนดงโรค เป็นพื้นที่โรคชุกชุม ประจำถิ่นไปโดยปริยายแล้ว หาทางกำจัดออกไปได้ยาก
- โรคประจำถิ่น ไม่ได้แปลว่าไม่อันตราย ไม่รุนแรง หรือกลายเป็นหวัดธรรมดา มีมากมายหลายโรคที่ ประจำถิ่นทั่วโลก แต่ทำให้ป่วยหนัก เสียชีวิตได้มาก แนะนำว่าการใส่หน้ากากอย่างถูกต้องสม่ำเสมอ คือหัวใจสำคัญในการประคับประคองให้อยู่รอด ลดความ เสี่ยงในการดำรงชีวิตประจำวัน จนกว่าสถานการณ์ทั่วโลกจะดีขึ้น
ส่วนการเปิดเทอมใหญ่พร้อมกันทั่วประเทศในวันที่ 17 พ.ค.นี้ เรื่องที่เป็นห่วงก็คือโรงเรียนขนาดใหญ่ที่มีจำนวนเด็กมากกว่า 2,000 คน เวลาทานข้าวจะต้องบริหารจำนวนนักเรียนเป็นรอบๆให้ดี เว้นระยะห่างตามมาตรการ เด็กต้องไม่แออัดจนเกินไป เนื่องจากเวลาทานทุกคนต้องเปิดหน้ากาก ดังนั้น จึงต้องกำชับเด็กไม่ให้มีการพูดคุยกันระหว่างทาน เพราะข้อมูลที่ได้รับรายงานในช่วงที่ผ่านมา เด็กมักติดเชื้อระหว่างการทานข้าว ดังนั้นจึงต้องมีการกำชับเรื่องนี้เป็นพิเศษ การล้างมือ การสวมใส่หน้ากากอนามัย และมาตรการ 6-6-7 ยังถือเป็นเรื่องที่ทุกโรงเรียนจะต้องตระหนักและปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด ไม่ใช่เปิดเทอมสัปดาห์แรกเข้มงวดดูแลกันเต็มที่ แต่พอผ่านไปกลับกลายเป็นความเคยชิน และหละหลวม สิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่ทุกโรงเรียนต้องเตือนตัวเองและเน้นย้ำกับเด็กๆ ตลอดเวลา