หน้ากากอนามัยกลายเป็นหนึ่งในสิ่งสำคัญที่ทุกคนขาดไม่ได้ เพราะด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้ทุกคนต้องป้องกันตัวเองด้วยการสวมหน้ากากอนามัยอยู่เสมอ แต่แน่นอนว่าการสวมหน้ากากอนามัยนานๆ ย่อมส่งผลกระทบต่อร่างกายและการเรียนรู้ของผู้ใส่ โดยเฉพาะในเด็ก
กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ได้เผยว่า การที่เด็กสวมหน้ากากอนามัยนานๆ จะเป็นขัดขวางพัฒนาการทางสังคมและการแสดงออกทางอารมณ์ในเด็กเล็ก เพราะ เด็กไม่ได้เรียนรู้จากการที่ได้ยินอย่างเดียว จะเรียนรู้จากการตอบสนองจากผู้ใหญ่ด้วย การแสดงออกทางสีหน้าคือสิ่งสำคัญ เมื่อเด็กไม่เห็น ก็ย่อมเรียนรู้ได้ไม่ดี
นอกจากนี้ยังมีเรื่องของสุขภาพร่างกาย ระบบการไหลเวียน ปอด รวมถึงเรื่องการใช้แรงในการสูดอากาศ อาจยังไม่แข็งแรงเต็มที่ จึงทำให้เด็กมีปัญหาจากคาร์บอนไดออกไซด์สะสม และมีปริมาณออกซิเจนไม่เพียงพอ
เมื่อเด็กหายใจไม่ออก ก็อาจทำให้มีอาการมึนหัว เวียนหัว หน้ามืดตาลาย และสลบ ถ้าร้ายแรงมากๆ มีผลกับระบบการไหลเวียนหัวใจ ระบบไหลเวียนโลหิต หรือระบบหายใจด้วย ซึ่งถ้ายังอยู่ในวัยที่ตัดสินด้วยตัวเองไม่ได้ ก็จะร้องไห้ งอแงรวมถึงพยายามเอามือปัดหน้ากากอนามัยออก
ดังนั้นจึงมีการแนะนำว่า ในเด็กเล็กที่อายุต่ำกว่า 2 ขวบไม่ควรสวมหน้ากากอนามัย และในเด็กที่โตกว่านั้นรวมไปถึงผู้ใหญ่ ควรมีระยะเวลาในการถอดหน้ากากเป็นช่วงๆ ในสถานที่ที่ปลอดภัย
เพื่อให้ได้พักหายใจเป็นปกติ ไม่แนะนำให้ใส่ตลอดเวลา เพื่อป้องกันปัญหาในการสะสมของออกซิเจนและคาร์บอนไดออกไซด์
อ้างอิงจาก
https://www.khaosod.co.th/covid-19/news_6738432