ในช่วงที่ฝนตกบ่อยๆ แบบนี้ คุณพ่อคุณแม่ต้องระวังสัตว์มีพิษต่างๆ ให้ดี อย่าง “ด้วงก้นกระดก” หรือแมลงก้นกระดก ที่มักพบได้บ่อยในหน้าฝน เป็นแมลงที่สามารถปล่อยสารพิษออกมาทำลายเซลล์เนื้อเยื่อผิวหนังได้ จึงต้องมีวิธีในการจัดการที่ถูกต้อง
นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า “ด้วงก้นกระดก” ตัวเต็มวัยจะมีสีดำสลับส้ม ยาว 5-7 มิลลิเมตร หัวสีดำ อกแบนยาว ท้องมี ปล้อง สี่ปล้องแรกสีส้มอมน้ำตาล ส่วนที่เหลือสีดำ ชอบเล่นไฟนีออน พบมากในช่วงฤดูฝน บินได้เร็วและว่องไว เวลาวิ่งจะยกปลายท้องกระดกตั้งขึ้นคล้ายแมงป่อง
ซึ่งในท้องของแมลงจะมีสารพิษ ชื่อ “พีเดอริน” มีฤทธิ์เป็นกรดอ่อน สามารถทำลายเซลล์เนื้อเยื่อผิวหนังได้ ดังนั้นหากเจอด้วงก้นกระดก แล้วไปตบหรือบี้ ก็อาจทำให้ท้องของแมลงแตกมาสัมผัสโดนผิว จึงทำให้เกิดอาการผิวหนังอักเสบจากสารพิษนี้ ไม่ใช่เพราะการกัด
โดยอาการจะมากหรือน้อยขึ้นกับปริมาณที่สัมผัส อาการจะไม่เกิดทันที แต่จะมีอาการหลังสัมผัส 8-12 ชั่วโมง ซึ่งพบมากในบริเวณนอกร่มผ้า ลักษณะผื่นเป็นผื่นแดงหรือเป็นรอยไหม้ รูปร่างมักเป็นทางยาว ผื่นมีขอบชัดเจน ทิศทางหลากหลายตามรอยการปัด อาการคันมีมากแต่จะมีอาการแสบร้อน และมีตุ่มหนองขนาดเล็กเกิดขึ้นตามมา บริเวณใบหน้าและรอบดวงตาหรือผิวอ่อนๆจะมีอาการรุนแรงมากกว่าที่อื่น
สำหรับวิธีการรักษาเมื่อสัมผัสกับแมลงและสารพิษพีเดอริน ให้ล้างน้ำออกด้วยน้ำสะอาด ฟอกสบู่ ห้ามเกาเพราะจะทำให้ติดเชื้อซ้ำ การป้องกันทำได้โดยหลีกเลี่ยงการสัมผัสแมลง ก่อนนอนควรปัดที่นอน ผ้าห่มให้แน่ใจว่าไม่มีแมลง
ที่สำคัญ เมื่อสัมผัสกับตัวแมลงมาเกาะตามร่างกาย อย่าตบหรือตีตัวแมลงโดยตรง แต่ให้เป่าหรืออาจใช้เทปกาวใสมาแปะตัวแมลงออกไป หากโดนสารพิษแล้วอาการไม่ดีขึ้น ให้รีบไปพบแพทย์ทันที
อ้างอิงจาก
https://www.dms.go.th/Content/Select_Landding_page?contentId=29547