การจมน้ำเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เด็กไทยเสียชีวิตสูงเป็นอันดับหนึ่งมาตลอด และยิ่งเป็นช่วงปิดเทอมใหญ่ด้วยแล้ว ลูกก็มักจะมาขอไปเล่นน้ำคลายร้อนกับเพื่อน ซึ่งถือว่ามีความเสี่ยงสูงมากทีเดียวค่ะหากให้เด็กๆ ไปกันเองตามลำพัง
ในปีที่ผ่านมาจากสถิติพบว่า ในช่วงปิดเทอมใหญ่ภาคฤดูร้อน 3 เดือน มีนาคม-พฤษภาคม ซึ่งเป็นช่วงที่มีเด็กจมน้ำเสียชีวิตมากที่สุด ประมาณ 1 ใน 3 ของการจมน้ำเสียชีวิตของเด็กตลอดทั้งปี เด็กที่จมน้ำส่วนใหญ่เป็นเด็กอายุ 5-9 ปี
ข้อมูลการเฝ้าระวังของกรมควบคุมโรคพบว่าสาเหตุการจมน้ำในช่วงปิดเทอมใหญ่เนื่องจากเด็กชวนกันไปเล่นน้ำกันเองตามลำพัง โดยในปีที่ผ่านมา พบว่าร้อยละ 42.1 ชวนกันไปเล่นน้ำเป็นกลุ่มตั้งแต่ 3 คนขึ้นไป และพบว่ามีเด็กจมน้ำเสียชีวิตพร้อมกัน 3 คน ถึง 4 เหตุการณ์ และ 2 คน ถึง 10 เหตุการณ์ ช่วงเวลาที่เกิดเหตุสูงสุด คือช่วงกลางวัน เวลา 12.00-14.59 น.
ดังนั้นเพื่อเป็นการป้องกันปัญหาที่เกิดขึ้นจึงควรดูแลลูกอย่างใกล้ชิด อย่าปล่อยให้เด็กชวนไปเล่นน้ำกันตามลำพัง ที่สำคัญคือสอนให้ลูกรู้จักแหล่งน้ำเสี่ยง คือ พวกแหล่งน้ำตามธรรมชาติ รวมไปถึงที่ขุดเพื่อทำการเกษตร อีกทั้งยังต้องสอนให้ลูกรู้จักอันตรายที่จะเกิดขึ้นและวิธีการเอาตัวรอดหากเกิดเหตุฉุกเฉิน คือ “ตะโกน โยน ยื่น”
- ตะโกน คือ การเรียกให้ผู้ใหญ่มาช่วยและโทรแจ้งทีมแพทย์กู้ชีพ 1669
- โยนอุปกรณ์ที่อยู่ใกล้ตัวเพื่อช่วยคนตกน้ำเกาะจับพยุงตัว เช่น ถังแกลลอนพลาสติกเปล่า หรือวัสดุที่ลอยน้ำได้โดยโยนครั้งละหลายๆ ชิ้น
- ยื่นอุปกรณ์ที่อยู่ใกล้ตัวให้คนตกน้ำจับ เช่น ไม้ เสื้อ
** หากพบเห็นคนตกน้ำไม่ควรกระโดดลงไปช่วย เพราะอาจจมน้ำพร้อมกันได้ **
อ้างอิงจาก