การให้ยาเมื่อลูกป่วยเป็นหนึ่งในวิธีการรักษาทางการแพทย์ แต่ถ้าใช้ยาไม่ถูกวิธี โดยเฉพาะยาปฏิชีวนะ ก็อาจทำให้ลูกเกิดเชื้อดื้อยาที่อาจส่งผลข้างเคียงรุนแรงได้
นายแพทย์วีรวุฒิ อิ่มสำราญ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า เชื้อดื้อยา หรือ เชื้อแบคทีเรียดื้อยา มีสาเหตุสำคัญจากการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างไม่ถูกวิธี ส่งผลให้เชื้อแบคทีเรียมีการปรับตัวและพัฒนาการดื้อยาจนไม่สามารถใช้ยาปฏิชีวนะที่มีอยู่เดิม ทำให้ต้องใช้ยาที่แรงขึ้น จึงเป็นการเพิ่มความเสี่ยงต่อการแพ้ยาและอาจเกิดผลข้างเคียงรุนแรงได้ ร้ายแรงที่สุดคืออาจไม่มียาตัวไหนรักษาอาการนั้นให้หายได้เลย
เชื้อดื้อยาสามารถติดต่อกันผ่านการสัมผัสได้ด้วย โดยเชื้อที่พบมากคือ เชื้อดื้อยา CRE (Carbapenem-Resistant-Enterobacteriaceae) เป็นเชื้อแบคทีเรียกลุ่ม Enterobacteriaceae (แบคทีเรียแกรมลบทรงแท่งที่พบในลำไส้) ที่ดื้อต่อยากลุ่ม Carbapenem ซึ่งเป็นยาหลักที่ใช้ในการรักษาผู้ป่วยที่มีภาวะติดเชื้อ โดยเชื้อที่พบบ่อย ได้แก่ Klebsiella pneumoniae, Escherichia Coli และ Enterobacter spp. และด้วยลักษณะเฉพาะของเชื้อดื้อยา CRE สามารถอาศัยอยู่ในลำไส้ได้นาน 6-9 เดือน ซึ่งทำให้สามารถก่อโรคไปยังระบบอื่นของร่างกาย
สำหรับการป้องกันการเกิดเชื้อดื้อยา CRE ในเด็ก คือ ลูกควรได้รับยาปฏิชีวนะตามแพทย์สั่ง โดยไม่ซื้อยาปฏิชีวนะมาให้ลูกทานเอง เพื่อป้องกันการเกิดแบคทีเรียดื้อยา และเชื้อดื้อยา CRE สามารถแพร่กระจายเชื้อโดยการสัมผัส ผู้ดูแลผู้ป่วย ทั้งบุคลากรทางการแพทย์ ญาติ จึงควรหมั่นล้างมืออย่างเคร่งครัด
อ้างอิงจาก
https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/948123