จากกรณีที่มีเด็กน้อยวัย 8 เดือนถูกรถ 10 ล้อทับเสียชีวิตเพราะนั่งอยู่บนรถหัดเดินแล้วไหลลงมาบนถนนนั้นเป็นอุบัติเหตุที่น่าเศร้าและถือเป็นอุทาหรณ์ให้กับคุณพ่อคุณแม่ทุกคนได้ไม่น้อย
รศ.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ ผู้อํานวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า รถหัดเดินทำให้เด็กเดินช้า เพราะเด็กเล็กที่อยู่ในรถหัดเดินจะให้ปลายเท้าจิกลงและไถไปข้างหน้า ซึ่งขัดกับหลักการเดินที่ถูกต้อง ที่จะต้องใช้ส้นเท้าลงก่อนเวลาเดิน
นอกจากนี้ที่น่าเป็นห่วงคือเรื่องของอุบัติเหตุ เด็กบนรถหัดเดินจะเคลื่อนที่ได้ไกลและเร็ว จากการวิจัยพบว่าหนึ่งในสามของเด็กที่ใช้รถหัดเดินจะเคยได้รับบาดเจ็บจากรถหัดเดิน อันตรายที่รุนแรงพบได้จากการตกจากที่สูง การพลิกคว่ำจากพื้นที่มีความต่างระดับจะนําไปสู่การบาดเจ็บกระดูกต้นคอ บาดเจ็บศีรษะและเลือดออกในสมองทําให้เสียชีวิตได้
รวมไปถึงการเคลื่อนที่เข้าสู่จุดอันตรายเวลาที่พ่อแม่คลาดสายตาอย่างวิ่งชนโต๊ะที่มีกาน้ำร้อน วิ่งไปตกบ่อน้ำหรือล้มคว่ำในอ่างน้ำ มากไปกว่านั้นคือเคลื่อนตัวออกนอกพื้นที่บ้านไปสู่ถนนทำให้ถูกรถชนได้
และในสังคมไทยนั้นมีความเคยชินกับการใช้รถหัดเดิน (ซึ่งจริงๆ แล้วต้องเรียกว่า รถพยุงตัว) เป็นอย่างมาก ส่วนใหญ่จะให้เด็กใช้ในช่วง 5-6 เดือน จากการสำรวจพบว่า ร้อยละ 50 คิดว่าจะช่วยให้ เด็กเดินได้เร็วขึ้น ร้อยละ 40 ให้เหตุผลว่าใช้เพราะ ผู้ดูแลไม่ว่าง ต้องทํางานบ้านจึงต้องมีที่ที่วางเด็กไว้โดยไม่ต้องดูแลเอง ซึ่งเป็นเหตุผลที่ตรงข้ามกับข้อควรปฏิบัติในการใช้ทั้งสิ้น
ส่วนในต่างประเทศ อาทิ แคนาดา ออสเตรเลีย และบางรัฐในสหรัฐอเมริกา มีกฎหมายห้ามจําหน่ายรถหัดเดินแล้ว ในบางรัฐให้จําหน่ายพร้อมคําเตือนอันตรายแก่ผู้ซื้อ
อ้างอิงจาก