“ไม่เอา!” “ไม่ทำ!” “ไม่กิน!” “ไม่ไม่ไม่ๆๆ!” นอกจากเจ้าตัวเล็กในวัยเตาะแตะจะชอบพูดไม่หยุดแล้ว เชื่อเหลือเกินว่าคุณพ่อคุณแม่หลายๆ คนจะต้องเจอปัญหาลูกชอบพูดคำว่า “ไม่” อย่างแน่นอน ทั้งๆ ที่เมื่อก่อนก็ดูว่านอนสอนง่าย พูดอะไรก็ทำตาม แต่ไม่รู้ทำไมอยู่ดีๆ ก็กลายไปนักปฏิเสธไปซะได้
วันนี้เราจึงจะพาคุณพ่อคุณแม่มาหาเหตุผลที่ทำไมลูกถึงชอบพูด “ไม่” ไว้ก่อนมาฝาก พร้อมวิธีรับมือที่ให้คุณแม่สามารถนำไปปรับใช้ได้อย่างแน่นอนค่ะ
เหตุผลที่ลูกชอบปฏิเสธ
เป็นพัฒนาการตามช่วงวัยของเด็กวัย 1-3 ขวบ เพราะลูกเริ่มมีความคิดของตัวเอง และสามารถทำสิ่งต่างๆ ได้มากขึ้น ดังนั้นเด็กวัยนี้จึงชอบปฏิเสธคำสั่งของผู้ใหญ่ด้วยคำว่า “ไม่” ตลอด ซึ่งเป็นวิธีที่เด็กใช้เพื่อการพัฒนาความเป็นตัวของตัวเอง
และในบางครั้งลูกก็ไม่ได้หมายความตามนั้นจริงๆ เขาอาจจะแค่พูดปฏิเสธออกมาเฉยๆ ให้พ่อแม่อย่างเราปวดหัวเล่นๆ ค่ะ
วิธีรับมือกับนักปฏิเสธ
ขั้นที่ 1 เตือนก่อนถึงเวลาจริง เช่น อีก 10 นาทีเดี๋ยวไปอาบน้ำกันนะคะ เพราะแน่นอนว่าการที่เราจะให้ลูกเปลี่ยนมาทำอะไรบางอย่าง ก็ต้องมีการเตรียมตัวก่อน เพื่อให้ลูกรับรู้ล่วงหน้าได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น
ขั้นที่ 2 บอกให้ทำเมื่อถึงเวลา เช่น ครบ 10 นาทีแล้ว ไปอาบน้ำกันเถอะค่ะ ซึ่งขั้นนี้ลูกอาจจะงอแง ยังคงไม่ยอมไปอาบน้ำ คุณพ่อคุณแม่ก็จะต้องใช้ความใจเย็นมากๆ อย่าหงุดหงิดหรือโมโหลูก ให้พูดด้วยความหนักแน่น
ขั้นที่ 3 พาให้ลงมือทำด้วยการโน้มน้าว เช่น โน้มน้าวผ่านเกมสนุกๆ หรือใช้การทำก่อนเพื่อให้ลูกทำตาม เพราะเด็กวัยนี้จะชอบการเลียนแบบมากๆ ค่ะ
หากรับมือไม่ถูกจะเป็นยังไง ?
แน่นอนว่าเมื่อลูกชอบพูดปฏิเสธบ่อยเข้า คุณพ่อคุณแม่อย่างเราก็คงอดไม่ได้ที่จะโมโห และเผลอโต้ตอบกับลูกแบบนี้…
- บังคับให้ลูกทำ
- พูดย้ำว่าลูกเป็นเด็กดื้อ
ซึ่งนั่นจะเป็นสิ่งที่ทำให้ลูกยิ่งแสดงพฤติกรรมเหล่านี้ออกมามากขึ้น ลูกจะร้องไห้ โวยวาย กลายเป็นเด็กอารมณ์ร้าย ไม่สามารถควบคุมอารมณ์ตนเองได้
สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ทำได้
- เข้าใจว่านี่เป็นช่วงวัยของลูก
- ไม่บีบบังคับ แต่ให้ลูก “มีตัวเลือก” เรื่องนี้สำคัญมากๆ เลยนะคะ เพราะอย่างที่บอกว่าเด็กวัยนี้จะเป็นตัวของตัวเอง อยากที่จะเลือกทุกอย่างเอง ซึ่งการมีตัวเลือก (ที่ไม่ว่าทางไหนก็คือสิ่งที่เราอยากให้ลูกทำ) จะช่วยให้ลูกรู้สึกว่าเขาไม่ได้กำลังถูกบังคับค่ะ
- ต้องพูดอย่างหนักแน่น แต่ไม่ใส่อารมณ์
ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่จะต้องใจเย็นขั้นสุด สูดลมหายใจลึกๆ ควบคุมอารมณ์ของตนเองให้ดีนะคะ และอย่าลืมชื่นชมลูกเมื่อเขาสามารถทำได้ หากเรารับมือกับลูกอย่างถูกวิธี เมื่อผ่านช่วงนี้ไปก็จะเป็นการสร้างความเชื่อใจ และทำให้ลูกเป็นเด็กที่มีความมั่นใจ และสามารถควบคุมอารมณ์ของตัวเองได้เป็นอย่างดีค่ะ
ข้อมูลอ้างอิงจาก