ในปัจจุบันโรคภัยเริ่มมีมากขึ้นเรื่อยๆ ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพกายและสุขภาพใจ ซึ่งในวันนี้เราก็มีข้อมูลเกี่ยวกับภาวะนึง ที่เด็กยุคนี้เริ่มเป็นกันมากขึ้นรวมไปถึงผู้ใหญ่อย่างเราๆ ด้วย คุณพ่อคุณแม่หลายคนอาจไม่เคยได้ยินหรือรู้จักภาวะนี้มาก่อน นั่นก็คือ “ภาวะขาดธรรมชาติ” ดังนั้นเราไปทำความรู้จักเรื่องนี้กันเลยดีกว่าค่ะ บอกเลยว่าเป็นสิ่งที่ใกล้ตัวเรามากกว่าที่คิด
ภาวะขาดธรรมชาติคืออะไร ?
ภาวะขาดธรรมชาติ หรือ Nature Deficit Disorder (NDD) เป็นภาวะที่เด็กจะมีปัญหาทางด้านอารมณ์และพฤติกรรม จากการที่ไม่ได้ออกไปใช้เวลากับกิจกรรมนอกบ้าน หรือได้ไปสัมผัสธรรมชาติ เพราะเด็กในปัจจุบันอาจไม่ได้มีโอกาสออกมาเล่นข้างนอกบ้าน ทำกิจกรรมกับเพื่อนๆ เหมือนสมัยที่เรายังเด็ก ที่ได้มาเล่นดิน เก็บดอกไม้ เด็ดต้นไม้ใบหญ้านั่นเอง
ซึ่งจริงๆ แล้วภาวะนี้ยังไม่ได้มีการระบุทางการแพทย์อย่างชัดเจนว่าเป็นโรคทางจิตเวชเด็ก แต่คำนี้ก็ได้ปรากฏขึ้นเมื่อปี 2005 ในหนังสือ Last Child in the Woods ที่เขียนขึ้นโดย Richard Louv นักข่าวและนักสารคดีชาวอเมริกัน ที่แสดงให้เห็นว่าพฤติกรรมเหล่านี้ได้เกิดขึ้นจริงๆ ในเด็กค่ะ แต่จริงๆ แล้ว ผู้ใหญ่ก็เสี่ยงภาวะนี้ไม่น้อยเลยนะคะ เพราะเราก็ใช้เวลาอยู่กับหน้าจอ จนแทบไม่ออกไปสัมผัสธรรมชาติเหมือนกัน
ถ้าสงสัยว่า เอ๊ะ แล้วเราหรือลูกเข้าข่ายรึเปล่า งั้นลองสังเกตลูกดูค่ะ ว่าเขามีอาการเหล่านี้หรือไม่ ถ้ามีก็อาจเข้าข่ายภาวะขาดธรรมชาติได้นะคะ
- ติดหน้าจอมากเกินไป
- ตักเตือนแต่แก้ไขไม่ได้
- จดจ่อกับอะไรนานๆ ไม่ได้
- เข้าสังคมไม่ได้
- ขี้โมโห ขี้หงุดหงิด
สาเหตุมาจากอะไร ?
สาเหตุของภาวะขาดธรรมชาตินั้น มีหลายเหตุผลมากๆ ค่ะ แต่อย่างแรกที่เห็นได้เด่นชัดก็คือ การเลี้ยงดูของพ่อแม่ที่เลี้ยงลูกแบบไข่ในหิน ไม่ยอมให้ลูกได้ลองสัมผัสหรือเล่นสนุกกับธรรมชาติรอบตัว เพราะห่วงและกังวลว่าเขาจะเกิดอันตราย จึงปิดกั้นการเรียนรู้ของเด็ก อีกส่วนหนึ่งคือพ่อแม่ทำงานหนัก จนไม่มีเวลามาเล่นกับลูก และหยิบยื่นสมาร์ตโฟน แท็บเล็ต และหน้าจอต่างๆ ให้เป็นพี่เลี้ยงของลูกก่อนถึงวัยที่เหมาะสม
และพอเด็กได้ลองเล่นจอจนติดหนึบเข้าแล้ว ก็เป็นเรื่องยากที่เขาจะหลุดออกมาจากหน้าจอ มาวิ่งเล่นและได้สัมผัสธรรมชาติในชีวิตจริง เขาก็จะจมอยู่กับในโลกโซเชียล โลกออนไลน์ นั่นทำให้กลายเป็นว่า แท็บเล็ต สมาร์ตโฟนและหน้าจอมีบทบาทมากในชีวิตเด็กค่ะ
ผลกระทบหากลูก “ขาดธรรมชาติ”
ภาวะขาดธรรมชาติ ส่งผลกระทบต่อสุขภาพกายและใจ รวมไปถึงความสัมพันธ์มากทีเดียวค่ะ ซึ่งสามารถสรุปเป็นข้อๆ ได้ดังนี้
- สมาธิไม่ดี : จะเห็นได้ว่าลูกเริ่มไม่ค่อยมีสมาธิ ทำอะไรได้แป๊บเดียวก็เปลี่ยนไปทำอย่างอื่น หรือสมาธิเริ่มสั้นลงนั่นเอง
- ควบคุมอารมณ์ตัวเองไม่ได้ : ลูกจะหงุดหงิดง่าย มีอารมณ์รุนแรง ก้าวร้าว
- ขาดพัฒนาการทางด้านภาษา : เพราะการที่เขาไม่ได้ออกไปวิ่งเล่น ไม่ได้เล่นกับเพื่อนๆ ใช้เวลาคนเดียวกับหน้าจอ จึงทำให้เกิดการสื่อสารทางเดียว ไม่ได้พูดคุยกับเด็กในวัยเดียวกันในชีวิตจริง
- ภาวะอ้วน : พอไม่ค่อยได้ขยับร่างกาย และกินอย่างเดียว จึงทำให้เกิดภาวะอ้วนตามมา เพราะเด็กๆ ควรใช้เวลาในการขยับร่างกายต่อวันเป็นเวลาหลายชั่วโมง
- ขาดความเห็นอกเห็นใจ : เด็กที่ไม่ได้ออกไปเล่นกับเพื่อน หรือมีสังคมใหม่ๆ แน่นอนว่าย่อมทำให้เขาไม่เข้าใจในความคิดหรือความรู้สึกของคนอื่นมากนัก
- เครียดและวิตกกังวลง่าย : หมกมุ่นอยู่แต่กับตัวเอง ไม่ได้ไปวิ่งเล่น สัมผัสธรรมชาติ เลยเพิ่มความเสี่ยงที่อาจทำให้ซึมเศร้าได้
- ครอบครัวมีสัมพันธภาพที่ไม่ดีต่อกัน : เมื่อคนในครอบครัวไม่ได้มีเวลาให้กัน อยู่แต่กับหน้าจอของตัวเอง ก็ย่อมทำให้ไม่ได้พูดคุย ปฏิสัมพันธ์ในครอบครัวก็น้อยลง
ทำยังไงไม่ให้ลูก “ขาดธรรมชาติ”
- อย่าหยิบยื่นหน้าจอให้ลูกก่อนวัยอันควร : ในเด็กเล็กที่อายุต่ำกว่า 2 ปีไม่ควรใช้หน้าจออย่างเด็ดขาด อย่าให้มือถือเป็นพี่เลี้ยงลูกเลยนะคะ
- กำหนดระยะเวลาในการใช้จออย่างชัดเจน : ไม่ปฏิเสธเลยว่าสมาร์ตโฟนและเนื้อหาออนไลน์บางส่วนมีประโยชน์และช่วยในการเรียนรู้ของเด็กได้ เพียงแต่ว่าเราต้องมีกติกาในการใช้ที่ชัดเจนเท่านั้นเองค่ะ
- พาลูกออกไปทำกิจกรรมนอกบ้าน พาไปเที่ยวสัมผัสธรรมชาติ และปล่อยให้ลูกเล่นเลอะเทอะบ้าง
- พ่อแม่ต้องเป็นตัวอย่างที่ดีให้ลูก : ก่อนจะสอนลูก พ่อแม่ควรมองตัวเองก่อนว่าเราเป็นแบบอย่างที่ดีให้เขาแล้วรึยัง เพราะเด็กๆ มักเรียนรู้จากการเลียนแบบ พ่อแม่ทำอย่างไรเขาก็จะทำแบบนั้น
สุดท้ายก็คือ สอนให้ลูกรู้ว่าธรรมชาติเป็นสิ่งสำคัญที่เราจะขาดไม่ได้
ข้อมูลอ้างอิงจาก