ในสหรัฐอเมริกามีเด็กที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคสมาธิสั้นสูงขึ้นมาก จากงานวิจัยใหม่ของฮาร์วาร์ดได้ตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์นิวอิงแลนด์ ตั้งข้อสังเกตว่าส่วนหนึ่งของจำนวนเด็กสมาธิสั้นที่เพิ่มขึ้น อาจเกิดจากการวินิฉัยที่ไม่เหมาะสม
มีหลายรัฐในสหรัฐอเมริกาที่มีการกำหนดเกณฑ์อายุของเด็กที่จะเข้าชั้นอนุบาลว่าต้องเป็นเด็ก 5 ขวบที่เกิดก่อน 1 กันยายน กล่าวคือเด็กที่เกิดวันที่ 31 สิงหาคม มีสิทธิเข้าเรียนในปีนั้น ในขณะที่เด็กที่เกิด 1 กันยายนจะต้องรอเข้าเรียนในปีถัดไป นั่นหมายความว่าเด็กที่โตสุดในชั้นเรียนจะมีอายุห่างจากเด็กที่อายุน้อยที่สุดถึง 1 ปี
ซึ่งความแตกต่างของอายุ 11-12 เดือนที่เกิดขึ้น สามารถส่งผลถึงการแสดงออกทางพฤติกรรมของเด็กๆ ได้ เด็กที่โตกว่าอาจอยู่นิ่งได้มากกว่า แต่เมื่ออยู่รวมกันในห้องเรียน เด็กที่มีอายุน้อย (ยังมีลักษณะนิสัยที่วิ่งซุกซน) จะถูกมองว่าสมาธิสั้นเนื่องจากอยู่นิ่งไม่ได้
ดังนั้นทิโมธี เลย์ตัน (Timothy Layton) ผู้ช่วยผู้วิจัยนโยบายดูแลสุขภาพ แห่งสถาบันบลาวาตนิก วิทยาลัยแพทยศาสตร์ฮาร์วาร์ด กล่าวว่า งานวิจัยชิ้นนี้ชี้ให้เห็นถึงความเป็นไปได้ที่เด็กอาจได้รับการวินิจฉัยเกินเลย (over-diagnosed) และรักษาเกินเลย (overtreated) ว่าเป็นโรคสมาธิสั้น เพราะพวกเขาดูโตช้า ไม่สมวัยเมื่อเทียบกับเพื่อนในชั้นเรียนเดียวกันที่มีอายุมากกว่า
งานวิจัยชิ้นนี้ศึกษาฐานข้อมูลทะเบียนการประกันสุขภาพของนักเรียนระดับชั้นประถมจำนวน 407,846 คนในอเมริกาที่เกิดในช่วงปี 2007 – 2009 และติดตามผลจนถึงปี 2015 โดยมุ่งศึกษาเด็กที่เกิดเดือนสิงหาคมกับกันยายนที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคสมาธิสั้น ในรัฐที่กำหนดเกณฑ์การเข้าเรียนด้วยวันที่ 1 กันยายนเพื่อเปรียบเทียบความแตกต่าง
ผลการเก็บข้อมูลพบว่าในสัดส่วนเด็กที่เกิดเดือนสิงหาคม 10,000 คน จะมีเด็กประมาณ 85 คนถูกวินิจฉัยว่าสมาธิสั้น ขณะที่เด็กที่เกิดในเดือนกันยายน 10,000 คน จะมีเพียงประมาณ 64 คนเท่านั้นที่ถูกวินิจฉัยว่าสมาธิสั้น
แต่อย่างไรก็ตามไม่ได้หมายความว่าเด็กที่เป็นโรคสมาธิสั้นจะไม่มีอยู่จริง เพียงแต่การวินิจฉัยโรคนั้นจะต้องดูบริบทแวดล้อมต่างๆ ด้วย เช่น อายุของเด็กคนอื่นในชั้นเรียน กฎระเบียบข้อบังคับต่างๆ ไม่สามารถดูแค่อาการของเด็กเพียงแค่อย่างเดียว เพื่อที่เด็กจะได้รับการวินิจฉัยและดูแลอย่างถูกต้อง
อ้างอิงจาก