จากการสำรวจภาวะโภชนาการในเด็กวัยเรียนอายุ 6 – 14 ปี พบว่ามีเด็กที่ผอมและอ้วนเกินไป โดยเด็กที่ผอมนั้นมีทั้งผอมเพราะขาดอาหารแบบเฉียบพลัน และแบบขาดอาหารเป็นระยะเวลานาน ซึ่จะหระทบกับความสูงของเด็ก ทำให้เตี้ยได้
พญ.นภาพรรณ วิริยะอุตสาหกุล ผู้อำนวยการสำนักโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ปัญหาเหล่านี้มาจากพฤติกรรมการบริโภค ซึ่งจากการสำรวจคุณภาพอาหารกลางวันเด็กพบว่า อาหารกลางวันส่วนใหญ่เป็นลักษณะเมนูที่ให้แต่พลังงาน ส่วนสารอาหารอื่นมีไม่ครบ
โดยสารอาหารที่มักขาดได้แก่
1. ธาตุเหล็ก ซึ่งเป็นสารอาหารที่ได้จากตับและเลือดสัตว์ ส่วนหนึ่งครูให้เหตุผลว่าเด็กไม่ชอบกินเพราะขม
2. ขาดโฟเลต ซึ่งได้จากผัก ผลไม้
3. ขาดวิตามินเอ ที่ได้จากตับ
4. แคลเซียม ที่ได้จากนม ถึงแม้ว่าทางโรงเรียนจะให้แล้ว 1 กล่องแต่ยังได้รับแคลเซียมไม่เพียงพอ พ่อแม่ต้องให้ดื่มเพิ่มเมื่ออยู่ที่บ้าน
ทั้งนี้ เมนูอาหารกลางวันที่แนะนำ คือ มีผักทุกมื้อ มีไข่อย่างน้อยสัปดาห์ละ 2 ฟอง มีตับหรือเลือดสัตว์อย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง ผลไม้สัปดาห์ละ 3 วัน ที่เหลือเป็นขนมหวานน้อย เช่น ถั่วเขียวต้ม ไม่ใช่ให้กินพวกขนมปัง คัสตาร์ด เป็นต้น เพราะทำให้เด็กอ้วน
พญ.นภาพรรณ กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ครูมักเข้าใจผิดว่าการที่เด็กผอม อ้วน เตี้ยหรือมีไอคิวต่ำเป็นเรื่องของกรรมพันธุ์ แต่ที่จริงไม่ใช่ ถ้าได้รับอาหารดี เพียงพอก็ทำให้ร่างกายสูงใหญ่ได้ ซึ่งมีงานวิจัยในต่างประเทศ ยืนยันว่า ความสูงมีความสัมพันธ์กับไอคิวหรือความฉลาดทางสติปัญญาที่เพิ่มขึ้นด้วย
ส่วนเรื่องความอ้วนนั้นจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพของเด็ก โดยเฉพาะปัญหาเรื่องการนอนหลับไม่สนิทตอนกลางคืน แล้วมาง่วงหลับตอนกลางวัน ส่งผลต่อประสิทธิภาพของการเรียนตามมา เพราะฉะนั้นเรื่องอาหารจึงเป็นเรื่องสำคัญที่ควรใส่ใจ รวมถึงดูแลให้เด็กมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอด้วย
อ้างอิงจาก