แอสเบอร์เกอร์ซินโดรม เป็นภาวะหนึ่งที่หลายคนอาจจะยังไม่คุ้นชื่อและยังไม่เป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลาย แต่ในขณะเดียวกันก็มีบางครอบครัวอาจจะรู้จักเป็นอย่างดี ซึ่งความผิดปกตินี้เกี่ยวข้องกับระบบประสาท ซึ่งส่งผลต่อการแสดงออกทางพฤติกรรมต่างๆ ซึ่งเด็กลักษณะนี้จะเข้าสังคมลำบาก แต่ก็ดูเหมือนจะฉลาดมากๆ ด้วยเช่นกัน วันนี้ Parents One จะพาไปรู้จักกับภาวะความผิดปกตินี้กัน หากเกิดขึ้นกับเด็กๆ แล้วเราจะมีวิธีทำความเข้าใจและดูแลอย่างไรกันบ้าง ไปดูกันเลยค่ะ
จะรู้ได้ยังไงว่าลูกเราเป็น “แอสเพอร์เกอร์”
แอสเบอร์เกอร์ซินโดรมเป็นกลุ่มออทิสติกอ่อนๆ โดยมีความบกพร่องทางด้านการสื่อสารและสังคม และมักจะมีพฤติกรรมซ้ำๆ เดิมๆ และเปลี่ยนแปลงได้ง่ายตามช่วงเวลา สามารถวินิจฉัยตั้งแต่เล็กหากพ่อแม่ติดตามพัฒนาการตั้งแต่เล็กๆ อย่างต่อเนื่อง
- เป็นภาวะผิดปกติที่ดูยากมาก เพราะภายนอกดูเหมือนเด็กปกติทั่วไป ไม่มีอะไรชี้เลยว่าจะมีปัญหา
- หากพ่อแม่ไม่เคยมีลูกมาก่อนจะดูยาก แต่พฤติกรรมจะชัดเจนเมื่อเขาอายุ 1-2 ขวบขึ้นไป
- พ่อแม่ควรสังเกตพฤติกรรมและพัฒนาการของลูกตั้งแต่ยังเล็ก เพราะรู้เร็วย่อมแก้ไขได้ผลดีกว่า
พฤติกรรมที่สามารถสังเกตได้
ด้านภาษา
เด็กๆ สามารถพูดและมีทักษะการใช้ภาษาอยู่ในเกณฑ์ปกติ สามารถพูดได้ถูกหลักไวยากรณ์ แต่ไม่สามารถเข้าใจเนื้อหาหรือความหมายอย่างลึกซึ้ง เช่น
- ไม่เข้าใจมุกตลก คำล้อเลียน และคำประชดประชันต่างๆ
- ชอบพูดคุยกับผู้ใหญ่แบบเป็นทางการ เกินกว่าอายุของลูก
- ไม่เข้าใจคำพูด หรือ คำสั่งรายละเอียดปลีกย่อย
- มักชอบพูดซ้ำๆ เรื่องเดิมๆ ที่ตนเองสนใจ
ด้านสังคม
เด็กๆ มักจะมีพฤติกรรมที่แสดงออกที่ดูแปลกแยกกว่าเด็กวัยเดียวกันเมื่อต้องมีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นๆ เช่น
- ไม่สบตา ไม่แสดงสีหน้า กิริยา หรือท่าทางประกอบการเข้าสังคม
- แยกตัวอยู่คนเดียว ไม่สนใจคนรอบข้าง
- เล่นกับเพื่อนๆ คนอื่นไม่ค่อยเป็น
- ไม่ค่อยรู้จักกาลเทศะ
- มักพูดคุยในเรื่องที่ตนเองสนใจซ้ำๆ เรื่องเดิม
- ขาดความเข้าใจและเห็นใจผู้อื่น
ด้านพฤติกรรม
เด็กๆ มักสนใจเรื่องที่ค่อยข้างมีความซับซ้อน และเป็นเรื่องที่คนอื่นๆ มักจะไม่สนใจ หรือสนใจมากไปจนหมกมุ่น ซึ่งความสนใจนี้อาจจะเปลี่ยนไปตามกาลเวลา เช่น
- สนใจเฉพาะเรื่องโดยเฉพาะเรื่องที่ซับซ้อน และชอบทำอะไรซ้ำๆ
- มีความไวต่อสิ่งเร้าที่มาจากภายนอกค่อนข้างมากกว่าคนทั่วไป
- ทำอะไรเป็นเวลา ต้องทำให้เหมือนๆ กันเป็นกิจวัตรประจำวัน เช่น ต้องตื่นตอน อาบน้ำ เป็นต้น
- เด็กเหล่านี้มักมีสติปัญหาดี หรือบางรายอาจจะช้ากว่าปกติ
- บางรายไม่มีสมาธิกับเรื่องใดเรื่องหนึ่งได้นานนัก
- มีปัญหาการจัดลำดับเหตุการณ์หรือเรื่องต่างๆ
พ่อแม่ต้องตั้งรับอย่างไร
- ทำความเข้าใจ ยอมรับ และเชื่อว่าสิ่งที่ลูกเป็นสามารถแก้ไขให้ดีขึ้นได้
- พ่อแม่ต้องมีเทคนิคที่หลากหลายมาช่วยในการสอนบางอย่าง ซึ่งต้องดูเด็กเป็นหลัก และปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์
- เวลาสนทนากับเด็กต้องใช้คำที่ง่าย ชัดเจน ต้องมีความสม่ำเสมอ ไม่เปลี่ยนแปลงบ่อย
- สนับสนุนให้เด็กได้ใช้ชีวิตกับคนอื่นๆ เพื่อให้ปรับตัวเข้ากับสถานการณ์ในชีวิตประจำวัน
- พยายามสอนอยู่ตลอดและต้องสอนในทุกกๆ เรื่อง เช่น เวลาเจอเพื่อนต้องทักทายอย่างไร อยากเข้าไปเล่นกับเพื่อนต้องทำอย่างไร สอนแล้วเด็กจะทำได้ในที่สุด
- หากิจกรรมที่หลากหลายเพื่อให้เด็กได้มีประสบการณ์ใหม่ๆ ไม่ซ้ำเดิม
- พ่อแม่ต้องให้ความรักและสนับสนุนเด็กอย่างถูกต้องและเหมาะสม
อ้างอิงจาก : โรงพยาบาลมนารมย์, นพ.ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา, กรมสุขภาพจิต สถาบันราชานุกูล