เมื่อลูกถึงวัยที่น่าจะเริ่มอ่านออกเขียนได้ หรือคิดเลขได้ แต่ว่ายังเขียนคำผิด หรือคิดเลขผิดอยู่บ่อยๆ ก็อาจจะมีแนวโน้มที่จะเป็นโรคแอลดีได้ แล้วโรคแอลดีคืออะไร และมีวิธีรักษาอย่างไรบ้าง มาดูกันเลยค่ะ
โรคแอลดีคืออะไร
โรคแอลดี (LD หรือปัจจุบันการวินิจฉัยใหม่ล่าสุดเรียกว่า SLD ย่อมาจาก Learning หรือ Specific Learning Disorder) เป็นหนึ่งในภาวะที่เด็กจะมาตรวจกับจิตแพทย์เด็กหรือกุมารแพทย์พัฒนาการด้วยเรื่องปัญหาการเรียน เช่น อ่านเขียนไม่ได้ หรือ ไม่คล่อง หรือมีปัญหาในการคิดเลข โดยเด็กจะมีทักษะทางวิชาการในด้านนั้นต่ำกว่าเกณฑ์หรือความคาดหวังตามวัย และได้รับการยืนยันจากการตรวจประเมินทางคลินิกและแบบทดสอบตามมาตรฐาน
ชนิดของโรคแอลดี
โรคแอลดีนั้นแบ่งออกเป็น 3 ด้านด้วยกัน ได้แก่
ความบกพร่องด้านการอ่าน
ความบกพร่องด้านการอ่านเป็นปัญหาที่พบได้มากที่สุดของเด็กแอลดีทั้งหมด ซึ่งจะมีความบกพร่องในการจดจำ พยัญชนะ สระ และขาดทักษะในการสะกดคำ จึงอ่านหนังสือไม่ออกหรืออ่านช้า อ่านออกเสียงไม่ชัด ผันเสียงวรรณยุกต์ไม่ได้ อ่านข้าม อ่านเพิ่มคำ จับใจความเรื่องที่อ่านไม่ได้ ทำให้เด็กกลุ่มนี้มีความสามารถในการอ่านหนังสือต่ำกว่าเด็กในวัยเดียวกันอย่างน้อย 2 ระดับชั้นปี
ความบกพร่องด้านการเขียนสะกดคำ
ความบกพร่องด้านนี้ส่วนใหญ่จะพบร่วมกับความบกพร่องด้านการอ่าน เด็กมีความบกพร่องในการเขียนพยัญชนะ สระ วรรณยุกต์ไม่ถูกต้อง บางครั้งเรียงลำดับอักษรผิด จึงเขียนหนังสือและสะกดคำผิด ทำให้ไม่สามารถแสดงออก ผ่านการเขียนได้ตามระดับชั้นเรียน เด็กกลุ่มนี้จึงมีความสามารถในการเขียนสะกดคำต่ำกว่าเด็กในวัยเดียวกันอย่างน้อย 2 ระดับชั้นปี
ความบกพร่องด้านคณิตศาสตร์
เด็กขาดทักษะและความเข้าใจค่าของตัวเลข การนับจำนวน การจำสูตรคูณ การใช้สัญลักษณ์ทางคณิตศาสตร์ จึงไม่สามารถคำนวณคำตอบจากการบวก ลบ คูณ หาร ตามกฎเกณฑ์ทางคณิตศาสตร์ได้ เด็กกลุ่มนี้จึงมีความสามารถในการคิดคำนวณ ต่ำกว่าเด็กในวัยเดียวกันอย่างน้อย 2 ระดับชั้นปี
ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับโรคแอลดี
บางคนคิดว่าเด็กที่เป็นโรคแอลดีนั้นไม่ฉลาดหรือปัญญาอ่อน อันที่จริงเด็กที่เป็นแอลดีไม่ใช่เด็กโง่ แต่เพียงเขามีความบกพร่องในการเรียนในบางด้าน ซึ่งเด็กที่เป็นแอลดีบางคนมีไอคิวระดับดีมาก แต่เด็กคนนั้นจะมีความบกพร่องในการเรียนบางด้าน ด้วยความที่ดูปกติในเรื่องอื่นๆ ยกเว้นบางเรื่องที่เขาบกพร่อง พ่อแม่บางคนมีความสับสนเพราะเห็นลูกเก่งในทุกเรื่อง แต่ถ้าอ่านเขียนหนังสือนี่หน้าบูดเบี้ยวทีเดียว บางทีพ่อแม่จะคิดว่า เด็กขี้เกียจหรือสอนไม่จำ ไม่เอาไหน แต่ไม่ใช่เช่นนั้นเลย โรคแอลดีมีสาเหตุจากความผิดปกติการสมองบางส่วนที่เกี่ยวข้องการอ่าน สะกดคำ หรือคณิตศาสตร์ ไม่ได้เกี่ยวกับนิสัยของเด็ก
อาการของโรคแอลดี
อาการของโรคแอลดีที่คุณพ่อคุณแม่สามารถสังเกตได้ เช่น
- หลีกเลี่ยงการอ่านการเขียน
- ไม่มีสมาธิในการเรียน ทำงานช้า ทำงานไม่เสร็จทำงานสะเพร่า
- ความจำไม่ดี เรียนได้หน้าลืมหลัง
- รู้สึกเบื่อหน่าย ท้อแท้
- ไม่มั่นใจในตนเอง มักตอบว่า “ทำไม่ได้” “ไม่รู้”
- อารมณ์ ขึ้นๆลงๆ หงุดหงิดง่าย ไม่อดทน
- ก้าวร้าวกับเพื่อน พี่น้อง ครู หรือพ่อแม่
- ขาดความภาคภูมิใจในตนเอง
- ฯลฯ
การดูแลรักษาโรคแอลดี
การช่วยเหลือทางการแพทย์
เนื่องจากโรคแอลดีสามารถเกิดรวมกับโรคอื่นๆ ได้บ่อย เช่น โรคสมาธิสั้น ดังนั้นแพทย์จึงมีบทบาทในการประเมิน วินิจฉัยภาวะต่างๆ ที่เด็กมี ร่วมถึงให้การรักษาภาวะเหล่านั้น เช่น โรคสมาธิสั้น หากได้รับยาช่วยสมาธิ อาการของโรคก็จะดีขึ้นมาก
การช่วยเหลือทางการศึกษา
ส่วนคุณครู หากมีความเข้าใจและพยายามช่วยเหลือด้านการเรียน เช่น ถ้าเด็กเป็นแอลดีการอ่าน ก็อนุญาตให้สอบปากเปล่า หรืออ่านโจทย์ให้ฟัง เด็กที่เป็นแอลดีการเขียนสะกดคำ อาจให้เด็กทำข้อสอบเป็นกากบาทมากกว่าให้เขียนตอบ จะพบว่าจริงๆเด็กก็ทำได้ดี ถ้าให้ดีควรเป็นรายบุคคลหรือเป็นกลุ่มเล็กๆที่พื้นฐานเหมือนกัน เพราะหากเรียนกับเพื่อนคนอื่นที่เรียนอยู่ชั้นเดียวกันตามปกติ ในวิชาที่เด็กบกพร่อง ก็จะยิ่งตามไม่ทัน
การช่วยเหลือจากครอบครัว
คุณพ่อคุณแม่ลองอธิบายให้เด็กและครอบครัวทราบถึงปัญหาและความบกพร่องเฉพาะด้านของเด็ก รวมทั้งความรู้สึกของเด็กที่มีต่อผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนต่ำ เปลี่ยนพฤติกรรมจากการตำหนิ ลงโทษ เป็นความเข้าใจ และสนับสนุนในการส่งเสริมทักษะการเรียนรู้ของเด็ก แล้วชื่นชมเมื่อเด็กทำสำเร็จแม้ในเรื่องเล็กน้อยเพื่อให้เกิดความภาคภูมิใจในตนเอง
ถือได้ว่าโรคแอลดีนั้นสามารถเกิดได้กับเด็กทั่วไป คุณพ่อคุณแม่ควรหมั่นสังเกตอาการของบุตรหลานเบื้องต้น อีกทั้งถ้าลูกมีอาการดังกล่าวแล้ว จะต้องคอยให้กำลังใจ อยู่เคียงข้าง และค่อยๆ สอนจากพื้นฐานที่เด็กทำได้ และสุดท้ายอย่าลืมส่งเสริมเด็กในด้านที่เขาชอบและถนัด เช่น ดนตรี กีฬา ศิลปะ บางทีเด็กก็ทำได้ดี จะได้ทำให้ลูกภาคภูมิใจในตัวเองมากขึ้นด้วย
ที่มา