Parents One

ลูกกินยาก ปัญหาใหญ่ที่แก้ได้ง่ายๆ

ปัญหาหนักอกหนักใจของคุณพ่อคุณแม่คงหนีไม่พ้นเรื่องสุขภาพร่างกายของลูกน้อย เมื่อลูกมีปัญหากินยาก เลือกกิน ไม่ยอมกิน ซึ่งพบบ่อยในเด็กเล็กวัย 1-3 ขวบ เนื่องจากเด็กช่วงวัยนี้เป็นช่วงวัยที่เด็กมักจะสนใจกับการทำกิจกรรมใหม่ๆ จึงมักพบปัญหาลูกกินยาก ทำให้เด็กได้รับสารอาหารไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย อาจส่งผลต่อพัฒนาการด้านต่างๆ ของลูกได้ วันนี้มีวิธีแก้ปัญหาลูกกินยากได้ง่ายๆ มาฝากคุณพ่อคุณแม่กันค่ะ

1. แบบอย่างที่ดีจากคุณพ่อคุณแม่

คุณพ่อคุณแม่ควรชักชวนให้กินด้วยการกินให้เห็นเป็นตัวอย่าง เริ่มต้นเป็นแม่แบบในการกินอาหารที่มีประโยชน์ เช่น ถ้าลูกไม่กินผักคุณแม่ควรลองกินให้ดูแล้วบอกว่าอร่อยแค่ไหน เด็กๆ มักชอบเลียนแบบพ่อแม่ อยากทำได้แบบที่พ่อแม่ทำ ดังนั้น ลองใช้เรื่องนี้ให้เป็นประโยชน์ด้วยการชักชวนให้เขากินผักแบบคุณแม่ก่อนได้เลยค่ะ

2. ความหลากหลายของอาหาร

ทำอาหารให้หลากหลายทั้งรสชาติ สีสัน และการตกแต่งจาน คุณแม่จะต้องใช้ความเป็นครีเอทีฟมากหน่อย เช่น ใช้พิมพ์กดแครอทเป็นรูปสัตว์ หุงข้าวแบบใส่สีผสมอาหารแบบธรรมชาติ ฯลฯ รวมถึงการให้ลูกช่วยทำอาหารบ้าง จะทำให้เขารู้สึกภูมิใจและอยากกินอาหารที่ตัวเองทำ

3. ตักอาหารให้พอดีกับลูก

ตักอาหารให้พอดีไม่มากเกินไป เทคนิคนี้ช่วยให้อาหารดูน่ารับประทาน เพื่อเป็นการกระตุ้นให้เด็กอยากอาหาร

4. งดขนมก่อนถึงมื้ออาหาร

งดขนมก่อนถึงมื้ออาหาร ในช่วงเวลาก่อนถึงมื้ออาหารประมาณ 1-2 ชั่วโมง ไม่ควรให้ลูกกินขนม ของว่าง หรือดื่มนมจนอิ่ม เพราะเมื่อถึงเวลาอาหาร ลูกจะกินได้น้อยหรือไม่กินอาหารเลย จะช่วยให้เด็กรับประทานอาหารได้ในเวลาหิวเช่นกัน

5. ให้ลูกกินข้าวตรงเวลา

ให้เวลารับประทานอาหารประมาณ 30 นาที ถ้าลูกยังไม่รับประทานอาหารเมื่อหมดเวลาแล้ว ควรให้เก็บอาหารไปจากโต๊ะ เพื่อเป็นการฝึกนิสัยตั้งแต่เด็กๆ เพื่อให้ลูกรู้ว่าเมื่อถึงเวลากินข้าวจะต้องตั้งใจกินอาหารของตัวเองให้หมด ไม่อย่างนั้นต้องอดทนหิวไปตลอดจนกว่าจะถึงมื้อต่อไป

6. ค่อยเป็นค่อยไปและให้กำลังใจลูก

ค่อยเป็นค่อยไปและให้กำลังใจเมื่อลูกกินยาก ไม่กดดันหรือบังคับลูก ให้ลองแบบค่อยเป็นค่อยไปทีละน้อย เมื่อลูกเริ่มกินได้ก็ควรชมเพื่อเป็นกำลังใจ เพื่อให้ครั้งต่อไปเขากินได้เยอะขึ้น หรือหากพบว่าลูกกินยาก เลือกกินเพราะเขามีอาการเจ็บป่วย เช่น เจ็บฟัน ปวดท้อง คุณแม่ควรหาสาเหตุให้เจอเพื่อรักษาให้หายก่อน ลูกจะได้กลับมากินอาหารได้เยอะเหมือนเดิมค่ะ

7. งดกิจกรรมอื่นระหว่างกินข้าว

ระหว่างกินข้าว ไม่ควรให้ลูกทำกิจกรรมอื่น เช่น เล่นของเล่น ดูโทรทัศน์ เล่นแท็บเล็ต หรือแม้แต่การเดินไปป้อนไป เพราะสิ่งเหล่านี้จะเบนความสนใจของลูก ทำให้เขากินได้น้อยหรือไม่สนใจกินข้าว

8. ปรับเปลี่ยนอาหาร

ลองให้ลูกกินอาหารที่ได้รับสารอาหารทดแทนกัน เช่น หากลูกไม่ชอบกินเนื้อสัตว์ที่เคี้ยวยากก็อาจจะให้ลองกินเต้าหู้เพื่อให้ร่างกายได้รับโปรตีน ในระหว่างนั้นคุณแม่ลองทำเมนูเนื้อสัตว์ที่เคี้ยวง่ายขึ้นเพื่อให้ลูกลองกินใหม่ในมื้อต่อไป หรือถ้าลูกกินผักได้น้อยอาจจะให้ลูกกินผลไม้หรือน้ำผลไม้แทน เพื่อให้ร่างกายยังได้รับวิตามินและเกลือแร่อย่างเพียงพอ

นอกจากวิธีข้างต้นแล้ว การรับประทานอาหารพร้อมหน้าพร้อมตาภายในครอบครัว สร้างบรรยากาศสนุกสนานน่าสนใจ มีการชื่นชมเด็กตามสมควรเมื่อสามารถรับประทานอาหารได้ดีขึ้น จะทำให้ลูกมีความสุขและมีทัศนคติที่ดีในการกินข้าวค่ะ

ที่มา :