โรคหัด เป็นโรคที่พบได้บ่อยในเด็กเล็ก อาการที่พบบ่อยของโรคหัด คือไข้ออกผื่น โดยมักมีไข้สูง 3-4 วัน แล้วเริ่มมีผื่นนูนแดงขึ้นจากหลังหูแล้วลามไปยังใบหน้า กระจายไปตามลำตัว แขน ขา จากนั้นไข้จะลดลงและผื่นค่อยๆ จางหายไป
ส่วนภาวะแทรกซ้อนที่พบได้คือ คออักเสบ หลอดลมอักเสบจนถึงปอดบวม หูชั้นกลางอักเสบ เยื่อบุตาอักเสบ ท้องเสีย และสมองอักเสบซึ่งเป็นภาวะที่รุนแรงที่สุด
จากสถานการณ์โรคระบาดในประเทศไทย ในปี 2562 พบผู้ป่วยไข้ออกผื่นหรือสงสัยหัด 8,358 ราย เสียชีวิต 22 ราย (1 มกราคม–15 พฤศจิกายน 2562) โดยผู้ป่วยส่วนใหญ่อยู่ในช่วงอายุ 0-4 ปี
ดังนั้นเพื่อเป็นการป้องกันการแพร่ระบาดของโรค จึงได้มีแผนการควบคุมการระบาดของโรคหัด โดยมีการฉีดวัคซีนป้องกันโรคหัดให้แก่เด็กอายุ 1-12 ปี ที่ยังไม่เคยได้รับวัคซีนแบบไม่เสียค่าใช้จ่าย
สำหรับวัคซีนที่ให้จะเป็นวัคซีนป้องกันโรคหัด-คางทูม-หัดเยอรมัน (MMR) แก่เด็กอายุ 1-7 ปี และให้วัคซีนป้องกันโรคหัด-หัดเยอรมัน (MR) แก่เด็กอายุ 7-12 ปี โดยเริ่มดำเนินการแล้วตั้งแต่วันที่ 14 พฤศจิกายน
อ้างอิงจาก
https://ddc.moph.go.th/riskcomthai/news.php?news=10007&deptcode=riskcomthai&news_views=454