ปัจจุบันมีผู้ป่วยเด็กป่วยเป็นโรคไตจำนวนมาก สาเหตุเนื่องจากมีการรับประทานเค็มในเด็กเกินความพอดี เช่น ขนมขบเคี้ยวที่เป็นประเภทซองต่างๆ ขนมแปรรูป ที่เป็นมันฝรั่งทอด และอื่นๆ อีกมากมาย เป็นสาเหตุของภาวะเสี่ยงที่จะป่วยเป็นโรคไตในเด็ก ซึ่งโรคไตในเด็กมีความสำคัญและต้องระวังไม่น้อยไปกว่าผู้ใหญ่ไปดูกันว่าจะมีวิธีป้องกันและดูแลอาหารของลูกรักอย่างไรค่ะ
โรคไตที่พบบ่อยในเด็กไทย
- การติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะ อาจเกิดจากการขับถ่ายปัสสาวะไม่ถูกสุขลักษณะ หรือความผิดปกติของโครงสร้างของไตตั้งแต่กำเนิด
- กลุ่มอาการเนโฟรติกหรือโรคไตรั่ว เด็กจะสูญเสียโปรตีนไข่ขาวไปทางปัสสาวะทำให้บวมไปทั้งตัว
- โรคไตอักเสบ อาจเกิดภายหลังการติดเชื้อแบคทีเรียที่ลำคอหรือผิวหนัง หรือเกิดจากโรคภูมิต้านทำลายเนื้อเยื่อตนเอง
สัญญาณอันตรายของโรคไต
- ปัสสาวะมีความผิดปกติ เช่น เป็นฟอง สีแดงหรือสีน้ำล้างเนื้อ
- ปัสสาวะบ่อย ปัสสาวะแสบขัด ออกกระปริบกระปรอย บางรายจะออกมากหรือน้อยกว่าปกติ
- อาการบวมหน้า หนังตา ขาหรือบวมทั่วตัว
- อาการอื่นๆ เช่น ซีด เหนื่อยง่าย หรือตัวเล็ก
วิธีป้องกันโรคไตในเด็ก
1. ดูแลโภชนาการลูก
ระวังอย่าให้อ้วน โดยหลีกเลี่ยงกินอาหารจุบจิบและออกกำลังกายสม่ำเสมอ ซึ่งภาวะโรคอ้วนมาจากรูปแบบการทำงานและการดำเนินชีวิตของพ่อแม่ในยุคใหม่ ที่ส่งผลไปยังเด็ก เช่น อาหารที่เป็นฟาสต์ฟู้ด อาหารรสหวาน-เค็มจัด และพ่อแม่ที่อาศัยแท็บเล็ต ใช้สมาร์ตโฟนทำกิจกรรม ทำให้เด็กไม่ได้ออกไปวิ่งเล่น ส่งผลเสียต่อสุขภาพ ทำให้อ้วนและเกิดความดันโลหิตสูง นำมาซึ่งภาวะไตเสื่อม สาเหตุนี้สามารถป้องกันได้โดยการปรับเปลี่ยนวิธีการเลี้ยงดู
2. สุขอนามัยในการปัสสาวะ
ป้องกันไม่ให้ติดเชื้อทางเดินปัสสาวะด้วยการรักษาสุขอนามัยในการถ่ายปัสสาวะ เช่น ทำความสะอาดทุกครั้งหลังปัสสาวะ ไม่กลั้นปัสสาวะ ถ่ายปัสสาวะออกจนสุดโดยไม่เร่งรีบ รวมถึงในเด็กเล็กการใช้ผ้าอ้อมสำเร็จรูป กรณีที่ผู้ปกครองไม่รู้ว่าเด็กขับถ่าย จึงทำให้เกิดการหมักหมมของอุจจาระ สามารถทำให้เกิดโรคไตได้ในอนาคตเช่นกัน
3. ไม่ซื้อยากินเอง
ไม่ควรซื้อยากินเอง เนื่องจากการกินยาซ้ำซ้อนหรือปริมาณยาไม่เหมาะสมจะมีพิษต่อไตได้
4. ให้ลูกดื่มน้ำให้เพียงพอ
ดื่มน้ำให้เพียงพอ อย่าให้ร่างกายขาดน้ำ ถ้ามีการสูญเสียน้ำ เช่น ท้องเสีย ต้องกินน้ำเกลือแร่ทดแทน ถ้าท้องเสียรุนแรงต้องมาพบแพทย์
*อาหารที่ควรเหลีกเลี่ยงสำหรับเด็กที่เป็นโรคไตเรื้อรัง
- เกลือ น้ำปลา ซีอิ๊ว ซอสหอยนางรม ซอสพริก ซอสมะเขือเทศ เต้าเจี้ยว น้ำจิ้มสุกี้ ผงชูรส
- อาหารที่มีการโรยเกลือโดยตรง เช่น ข้าวโพดคั่ว มันฝรั่งทอด ขนมคบเคี้ยว ฟ้าดฟู้ด
- อาหารตากแห้ง เช่น ปลาเค็ม กุ้งแห้ง หมูเค็ม เนื้อเค็ม
- อาหารหมักดอง เช่น กะปิ ไข่เค็ม เต้าหู้ยี้ ผัก และผลไม้ดอง
- เนื้อสัตว์แปรรูป เช่น ไส้กรอก กุนเชียง หมูยอ แหนม หมูแผ่น หมูหยอง ปลากระป๋อง ปลาเส้น
- อาหารกึ่งสำเร็งรูป เช่น โจ๊กผง ข้าวต้มผง บะหมี่กึ่งสำเร็งรูป ซุปผง ซุปก้อน
- ผงฟูที่ใช้ทำขนมอบต่างๆ เช่น ขนมปัง แพนเค้ก วาฟเฟิล มัฟฟิน ขนมเค้ก และสารกันบูด
การป้องกันโรคไตในเด็ก จะต้องดูเรื่องโภชนาการเป็นหลัก โดยให้ลดเค็มและต้องดื่มน้ำให้พอเพียง และเฝ้าสังเกตอาการโรคไตในเด็ก หากพบว่าเด็กมีอาการตาหรือหน้าบวมหลังตื่นนอน หรือมีสีของปัสสาวะที่ผิดปกติ ควรรีบพาเด็กไปพบแพทย์ หากสามารถพาไปพบแพทย์ได้เร็ว จะทำให้การรักษาได้ผลดี ป้องกันภาวะไตอักเสบที่นำไปสู่ไตเรื้อรังได้ทันท่วงที
ที่มา – thaihealth , siphhospital , rakluke