คุณแม่ๆ เคยสังเกตไหมว่า ทำไมเวลาพูดถึงคุณหมอฟัน หรือจะพาลูกไปหาหมอฟันแต่ละที เด็กๆ ต้องงอแง จนแม่เองก็ต้องงัดเอาสารพัดวิธีมาหลอกล่อให้เขาไปหาคุณหมอให้ได้ ทั้งๆ ที่การไปหาหมอนั้นเป็นการไปหาครั้งแรกด้วยซ้ำ ก็เพราะการที่พวกเขางอแง หรือมีอาการกลัวหมอฟันนี้ มักเกิดขึ้นจากการสื่อสารของพวกเรานี่ล่ะค่ะ ที่ทำให้เด็กๆ จินตนาการถึงความกลัวในการทำฟัน วันนี้เรามาดูกันดีกว่าค่ะว่า พฤติกรรมหรือการสื่อสารแบบไหนบ้าง ที่ทำให้เด็กๆ กลัวหมอฟันกันบ้างไปดูกันเลย!
คำพูดที่ไม่ควรพูดก่อนพาลูกไปพบหมอฟัน
- ถ้าไม่หยุดร้อง เดี๋ยวให้หมอจับถอนฟันเลยนะ!
- ไม่ต้องกลัว ถ้าคุณหมอทำเจ็บเดี๋ยวแม่จะตีหมอ
- วันนี้ไม่ได้ถอนฟัน แค่ไปดูคุณหมอเฉยๆ (แต่จริงๆ ต้องถอนฟัน)
- ไม่เจ็บหรอกลูก
- โอ๋ลูก โอ๋ๆ แม่จะไม่พามาอีกแล้วนะ
พฤติกรรมที่ทำให้ลูกกลัวหมอฟัน
1. ข่มขู่ทุกครั้งเมื่อลูกดื้อ
เวลาที่พวกเขาดื้อ สิ่งแรกๆ ที่พ่อแม่มักทำคือการขู่ถึงบุคคลที่ 3 เช่น ถ้าดื้อเดี๋ยวให้ตำรวจมาจับเลยนะ หรือ ถ้าดื้อเดี๋ยวจะบอกให้คุณหมอมาฉีดยาเลยนะ เด็กๆ ก็จะฝังใจทันทีเลยว่า เมื่อไหร่ก็ตามที่พวกเขาทำผิด เขาจะถูกลงโทษด้วยการฉีดยา และเมื่อถึงเวลาที่เราต้องพาเขาไปหาหมอฟัน เด็กๆ ก็จะไม่ให้ความร่วมมือในทันทีค่ะ ทางที่ดีเปลี่ยนจากการข่มขู่ลูก ให้กลายมาเป็นการให้เหตุผลที่ดีว่าทำไมเขาต้องไปหาหมอฟันดีกว่าค่ะ
2. ขาดการปลูกฝังเรื่องการดูแลช่องปาก
เพราะเด็กๆ มักจะชอบกินขนมคบเคี้ยว หรือลูกอมลูกกวาด คุณพ่อคุณแม่จึงต้องมีหน้าที่ในการสอนลูกเกี่ยวกับเรื่องการปฏิบัติตัวในการกินอาหารต่างๆ และการดูแลช่องปากที่ถูกต้อง เพื่อป้องกันฟันผุให้กับลูกน้อย เช่น แปรงฟันก่อนนอน สอนวิธีการแปรงฟันด้วยเพลงน่ารักๆ หรือแปรงฟันไปพร้อมกับลูกตอนอาบน้ำ และที่สำคัญเลยก็คือควรบอกถึงเหตุผลว่าถ้าไม่รักษาความสะอาดจะเกิดอะไรตามมาได้บ้าง
3. ไม่แสดงความกลัวให้ลูกเห็น
เชื่อเลยค่ะว่า ไม่ใช่แค่เด็กๆ ที่กลัวคุณหมอฟัน คนโตๆ แล้วอย่างคุณพ่อคุณแม่บางท่านก็มีความกลัวเครื่องมือของคุณหมอ หรือกลัวความเจ็บจากการทำฟันได้เช่นกัน ดังนั้น ถึงแม้ว่าจะกลัวแค่ไหน จงคำนึงไว้เสมอว่า การแสดงออกถึงความกลัวให้ลูกเห็น จะเป็นภาพจำให้กับลูกได้ด้วยเช่นกัน เพราะฉะนั้นแล้ว จงเก็บอาการ เก็บอารมณ์ไว้ให้มั่น จงควบคุมอารมณ์และความรู้สึกกลัวไว้อย่าให้ลูกเห็น เพื่อสุขภาพของลูกน้อยนะคะ
4. ลูกไม่อยากไปหาหมอฟัน ก็ตามใจลูกเสมอ
เมื่อถึงเวลาที่ต้องพาลูกไปหาหมอฟัน อยู่ๆ ลูกก็เกิดอาการงอแง ร้องไห้ โวยวายไม่ยอมไปหาหมอ จนเราเองก็ไม่สามารถควบคุมเหตุการณ์เพราะสงสารลูก จึงยกเลิกการไปหาหมอฟันซะอย่างงั้น การกระทำเช่นนี้เป็นการทำร้ายลูกทางอ้อมเลยนะคะ ผลที่ตามมาก็คือ เมื่อถึงเวลาที่เขาไม่อยากไปไม่อยากทำสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เขาแค่งอแงร้องไห้ คุณแม่ๆ ก็เปลี่ยนใจและตามใจเขาได้ ทำให้เด็กๆ ติดเป็นนิสัย ยิ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับการไปหาหมอฟันแล้วก็ยิ่งต้องห้ามตามใจเขาเลยค่ะ ไม่เช่นนั้นอาจจะเกิดผลเสียเกี่ยวกับสุขภาพในช่องปากได้ง่ายๆ เลยนะคะ
5. โกหกลูกเพื่อหลอกล่อ
เพราะการโกหกเด็กมักจะเชื่อ และมักหลอกล่อให้ทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้สำเร็จ พ่อแม่จึงนิยมใช้วิธีนี้กันอย่างมาก แต่การโกหกเพื่อหลอกล่อนี้อาจจะทำให้ลูกไม่ไว้ใจการกระทำของผู้ปกครองก็ได้นะคะ เพราะทุกครั้งที่พูดให้เขาฟัง แต่สิ่งที่โดนกระทำกลับกลายเป็นอีกสิ่ง เด็กๆ มักจะฝั่งใจและไม่เชื่อใจเราได้ง่ายๆ เลย ทางที่ดีคือ พ่อแม่ต้องพูดและอธิบายให้ลูกเข้าใจเกี่ยวกับคุณหมอฟันในทางที่ดีเพื่อลดความกังวลของเด็กๆ ในระดับหนึ่งก่อนไปหาคุณหมอ เมื่อเขารู้ล่วงหน้าแล้วเขาจะสามารถทำตามเราได้ง่ายขึ้น แต่เราเองต้องบอกทุกอย่างนะคะว่าการไปหาหมอฟันต้องเจออะไรบ้าง และเมื่อลูกทำได้สำเร็จ การชมเชยก็เป็นสิ่งสำคัญเช่นกันค่ะ เพื่อสร้างกำลังใจและทัศนคติเกี่ยวกับหมอฟันที่ดีขึ้นให้กับเด็กๆ ยังไงล่ะคะ
อ้างอิงจาก : BFC-DENTAL