การเลี้ยงลูกด้วยเสียงดนตรีถือเป็นอีกวิธีหนึ่งที่ได้รับความสนใจและเริ่มเป็นที่นิยมในหมู่คุณพ่อและคุณแม่ในยุคปัจจุบันเป็นอย่างมาก เพราะการเลี้ยงลูกด้วยเสียงดนตรีถือเป็นการเสริมสร้างพัฒนาการของลูกได้เป็นอย่างดี แล้วเสียงดนตรีจะช่วยสร้างจินตนาการและเสริมพัฒนาการของลูกน้อยได้อย่างไรบ้าง และจะส่งเสริมทักษะด้านใดบ้าง มาดูกันเลยค่ะ
ลูกชอบเสียงร้องเพลงของแม่มากกว่าเสียงพูด
พัฒนาการด้านการฟังถือเป็นพัฒนาการลำดับแรกสุดของลูกเลยก็ว่าได้ ลูกสามารถฟังทุกๆ เสียงที่เกิดขึ้นได้ตั้งแต่อยู่ในท้องแม่ ซึ่งลูกจะมีความพึงพอใจในเสียงดนตรีเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว เขาสามารถรับรู้ระดับเสียงสูงๆ ต่ำๆ ได้อย่างดี รวมถึงสามารถแยกแยะเสียงพูด เสียงร้องเพลงของแม่ออกจากเสียงผู้หญิงคนอื่นได้ หากได้รับการกระตุ้นทางการได้ยินอยู่เสมอ ผ่านการฟังดนตรีตั้งแต่อยู่ในท้อง จะทำให้เขามีการตอบสนองต่อเสียงได้ดีขึ้น เมื่อเวลาแม่ปลอบหรือร้องเพลงให้ลูกฟัง จะทำให้ลูกรู้สึกสงบและผ่อนคลาย จึงเป็นเหตุผลที่ว่าทำไมลูกชอบเสียงร้องเพลงของแม่มากกว่าเสียงพูดค่ะ
ลูกเกิดมาพร้อมความสามารถทางดนตรีและภาษา
ดนตรีและภาษาล้วนมีเสียงเป็นองค์ประกอบเหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องระดับเสียง ความถี่ เวลา และน้ำเสียงก็ตาม เมื่อเกิดมาลูกจะมาพร้อมความรู้สึกที่ไวต่อเสียงทั้งดนตรีและเสียงพูดติดตัวออกมา และมีความสามารถทำสิ่งต่างๆ เช่น แยกความต่างของระดับเสียงและจังหวะได้ จดจำเสียงดนตรีและคำพูด สามารถออกเสียงได้ เป็นต้น
ดนตรีช่วยพัฒนาสมองได้
สมองของเด็กเรียนรู้ได้ดีมากกว่าผู้ใหญ่หลายพันเท่า โดยเฉพาะเด็กอายุน้อยกว่า 3 ปี สมองจะมีความตื่นตัวในการทำงานอย่างมาก จึงเป็นช่วงเวลาสำคัญที่จะเร่งพัฒนาการและการเจริญเติบโต จากการเรียนรู้ทักษะใหม่ๆ ดนตรีนั้นเป็นเสียงที่อยู่ในสิ่งแวดล้อมรอบตัวลูกอยู่แล้ว จึงมีอิทธิพลต่อการพัฒนาด้านร่างกาย อารมณ์ สังคม หรือสติปัญญา หากเลือกใช้ดนตรีที่เหมาะสมก็จะช่วยพัฒนาระบบต่างๆ ภายในสมองของลูกให้มีประสิทธิภาพได้มากขึ้นค่ะ
ทักษะคณิตศาสตร์
ทักษะการคิดคำนวณสามารถสร้างได้ด้วยการเล่นดนตรีเช่นเดียวกันนะคะ งานวิจัยจากสหรัฐอเมริกาในกลุ่มที่เคยเล่นดนตรีมาก่อน เด็กที่เล่นคีย์บอร์ดมีคะแนนการทดสอบสูงกว่าเด็กที่เล่นเปียโนและร้องเพลงมาก ดังนั้นหากลูกสนใจเล่นคีย์บอร์ดก็น่าสนับสนุนทีเดียว เพราะเป็นไปได้ว่าเขาจะมีทักษะการคิดคำนวณที่ยอดเยี่ยมตามมาด้วยค่ะ
พัฒนาการทางสติปัญญา
การเล่นดนตรีเป็นการที่สมองสองซีกเชื่อมโยงกันได้ดี ทำให้การสื่อสารส่งผ่านข้อมูลเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว จึงส่งผลต่อการเรียนรู้ที่ดีขึ้น ส่งเสริมพัฒนาการด้านสติปัญญาได้ มหาวิทยาลัยโทรอนโตแห่งแคนาดาทดลองแบ่งเด็กออกเป็นสี่กลุ่ม โดยสองกลุ่มแรกเรียนคีย์บอร์ดและร้องเพลงห้าวันต่อสัปดาห์ เป็นเวลาเจ็ดเดือน ส่วนสองกลุ่มหลังทำกิจกรรมอื่น ๆ ที่ไม่ใช่การเล่นดนตรี ปรากฏว่าทั้งกลุ่มที่เรียนดนตรีและไม่เรียนดนตรีมีไอคิวสูงขึ้นตามพัฒนาการ แต่ข้อแตกต่างคือ เด็กกลุ่มที่เรียนดนตรีมีไอคิวสูงขึ้นถึง 7 จุด ขณะที่อีกกลุ่มที่ไม่ได้เรียนดนตรีนั้นมีไอคิวเพิ่มขึ้น 4.3 จุดค่ะ
การพัฒนาด้านร่างกาย และสุขภาพที่ดี
ไม่เพียงการพัฒนาทางสติปัญญาและจิตใจเท่านั้น การเล่นดนตรียังช่วยเพิ่มทักษะการประสานงานของส่วนต่างๆ ในร่างกายได้ การทดสอบทางวิทยาศาสตร์พบว่า ในวัยก่อนเข้าเรียน การเล่นดนตรีมีประโยชน์พอๆ การเล่นพละด้วยซ้ำ แถมยังช่วยปรับท่าทางที่ดีขึ้นให้ร่างกาย ทำให้อารมณ์ดีขึ้น ลดความตึงเครียด และเพิ่มความสุขสนุกสนานได้เช่นกันค่ะ
การพัฒนาตนเองและทักษะด้านสังคม
การเล่นดนตรีเป็นกิจกรรมที่มีประโยชน์ในด้านการพัฒนาตนเองและทักษะการเข้าสังคม ในด้านการพัฒนาตนเอง การเล่นดนตรีจะทำให้เด็กรู้สึกประสบความสำเร็จจากความมุ่งมั่นและอดทนที่เกิดจากการฝึกซ้อมจนทำได้ รวมถึงเป็นการสร้างวินัยให้ตัวเองไปในตัว ทักษะและการเรียนรู้ในการพัฒนาตนเองเหล่านี้ยังนำไปสู่พัฒนาการทางสังคม ความมั่นใจและเชื่อมั่นในตนเองจากการเล่นดนตรีส่งผลให้เด็กมีทักษะทางสังคมที่ดียิ่งขึ้น การเล่นดนตรีเป็นทีมหรือการเรียนรู้ร่วมกับเด็กคนอื่นๆ ช่วยสร้างมิตรภาพและความรู้สึกในการเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มได้เป็นอย่างดีค่ะ
จะเห็นได้ว่าการเลี้ยงลูกด้วยเสียงดนตรีนั้นมีข้อดีกับลูกมากมายด้วยกัน นอกจากจะส่งเสริมพัฒนาการแล้ว ยังเป็นกิจกรรมที่ช่วยให้ลูกได้ผ่อนคลายจากเสียงดนตรีอีกด้วย ยิ่งถ้าคุณแม่ได้มาเล่นดนตรีกับลูกด้วยแล้วยิ่งดีเข้าไปใหญ่เลยล่ะค่ะ
ที่มา