เมื่อกฏหมายใหม่ออกเกี่ยวกับเรื่องของการใช้กัญชา คงเป็นที่กังวลของคุณพ่อคุณแม่หลายบ้านใช่ไหมคะ ว่าแบบนี้แล้ว เด็กทานได้หรือเปล่า? จะระวังอย่างไรให้ลูกของเราไม่เผลอทาน หรือจริงๆ แล้วมันอาจจะทานได้ไม่อันตรายกัน ในตรงนี้เอง ข้อกฏหมายเกี่ยวกับขอบเขตการใช้ก็ยังไม่สามารถออกมาครอบคลุมได้อย่างเหมาะสม ดังนั้นคงจะต้องเป็นหน้าที่ของผู้ปกครองอย่างเราแล้วล่ะค่ะ! ที่จะต้องมาช่วยกันดูแลเรื่องอาหารของลูกในยุคเสรีกัญชา
ซึ่งเรื่องไหนบ้างที่เราควรตระหนัก ไปดูพร้อมๆ กันเลย!
เด็กๆ ทานกัญชาได้หรือไม่
เราคงเคยได้ยินกันมาบ้างแล้วว่า กัญชานั้นเป็นได้ทั้งยาเสพติด และก็ยาทางการแพทย์ แต่ทั้งนี้ทั้งนั่น สำหรับเด็กที่อายุไม่ถึง 20 ปี หรือเป็นยาวชนเต็มตัว ไม่ควรอย่างยิ่งที่จะให้ได้ลองทานอาหารหรือขนมที่มีส่วนผสมของกัญชาค่ะ เพราะหากทานเข้าไปแล้ว จะเกิดโทษมากกว่าประโยชน์ต่อร่างกาย ในกรณีที่ต้องทานหรือใช้จริงๆ นั้น ควรต้องอยู่ในการดูแลของแพทย์
ดังนั้น การให้เด็กได้รับกัญชาไม่ว่าทางไหน ทั้งทาน หรือสูดดม ก็เป็นเรื่องที่ไม่ควรทั้งสิ้นด้วยอายุของเขา และนอกจากเด็กแล้ว ว่าที่คุณแม่ หรือกำลังอยู่ในช่วงให้นมบุตรก็ไม่สามารถทานได้เช่นกันค่ะ เพราะอาจเป็นอันตรายต่อร่างกายได้
หากเด็กทานกัญชาจะเป็นอย่างไร
จากข้อแรกที่เรารู้กันแล้วว่า กัญชานั้น ไม่ใช่สิ่งที่เหมาะกับเด็ก ไม่ว่าจะวัยไหนก็ตาม เพียงขึ้นชื่อว่าเป็นเด็ก ก็ถือว่าไม่ควรมากๆ แล้วเพราะอย่างไร จุดเริ่มต้นของกัญชาก็ถือเป็นสารเสพติดที่ออกฤทธิ์โดยตรงกับระบบประสาทและสมอง ส่งผลให้หากเด็กๆ ได้รับกัญชาเข้าไปนั้น อาจเกิดอาการดังต่อไปนี้
- พัฒนาการล่าช้า ไม่เป็นไปตามวัย
- สติปัญญาถดถอยลง ไม่สามารถทำความเข้าใจหรือเรียนรู้สิ่งที่ยากขึ้นได้
- เริ่มควบคุมพฤติกรรมตนเองไม่ได้ ไม่มีสติ
- เสี่ยงต่อการทำให้เป็นโรคทางจิตเภท
- หากติดหนักจนกลายเป็นการเสพติด ลุกลามไปอยากลองเสพสารแบบอื่นๆ
และยิ่งรุนแรงเมื่อเกิดอาการแพ้ร่วม ก็อาจส่งให้มีอาการดังนี้ตามมา
- หัวใจเต้นเร็วเกิน
- หมดสติเฉียบพลัน
- เดินเซ, ควบคุมทิศทางไม่ได้
- หายใจไม่ออก
- หูแว่ว เห็นภาพหลอน
เตือนให้ตื่นรู้ได้ทุกที่ จะเป็นเรื่องดีกับทุกฝ่าย
แน่นอนว่าการดูแลลูกของเราให้ห่างไกลจากสิ่งที่ยังไม่ถึงเวลาของเขา อาจเป็นเรื่องที่ยาก และระมัดระวังด้วยตนเองลำบาก แต่ส่วนหนึ่ง กับสังคมเองก็เป็นอีกส่วนสำคัญที่ต้องเข้ามาขับเคลื่อนในการป้องกันนี้ ไม่ว่าจะเป็นคนร่วมชายคาบ้าน, สังคมโรงเรียนหรือสถานที่ให้การศึกษา และตามร้านรวงต่างๆ ที่ขายอาหาร ฉะนั้นเมื่อมีการซื้ออาหารมาให้เด็กในบ้าน หรือ สมาชิกในบ้านเราต้องออกไปเรียนหรือทานอาหารตามที่ต่างๆ สิ่งที่ควรทำเสมอคือ
- หมั่นตรวจเช็กอาหารที่ซื้อเข้าบ้านเสมอว่า ร้านที่สั่งมามีส่วนผสมของกัญชาหรือไม่
- ประสานงานกับทางโรงเรียน เพื่อให้ช่วยตรวจสอบเรื่องอาหารกลางวันของเด็ก ว่าร้านขายต่างๆ นั้นมีมาตการปลอดกัญชาหรือไม่ และหากมีร้านไหนผสมเข้านั้น ควรมีมาตรการดูแลให้เหมาะสม
- ก่อนเข้าร้านทานหรือสั่งอาหารกลับบ้าน สอบถามทางร้านเสมอว่ามีส่วนผสมของกัญชาหรือไม่
- สอนให้ลูกรู้ว่ากัญชาคืออะไร และควรจะระวังอย่างไร ให้ไม่เผลอทาน หรือกินเข้าไป
หากลูกเผลอทานกัญชาเข้าไปโดยไม่ตั้งใจ จะทำอย่างไร
เรื่องการกินของลูก แม้จะอยู่ในสายตาของผู้ปกครองตลอด แต่มันก็อาจมีบ้างที่บางครั้งเราไม่รู้ว่า อาหารที่ลูกไปทานมาจากที่อื่น หรือเราซื้อเข้ามาแล้วเขาเป็นคนทานก่อน จึงมีอาการ และหากร้ายแรงคือถ้าแพ้กัญชาด้วย จะยิ่งแย่เข้าไปใหญ่ เราสามารถช่วยปฐมพยาบาลให้เด็กของเราก่อนได้ โดยการพยายามให้จิบน้ำให้มากที่สุดเพื่อประคองอาการที่ปากแห้ง ใจสั่น แต่อย่างไร การรักษานี้จำเป็นต้องให้แพทย์ช่วยเหลือเท่านั้น
ส่วนไหนของพืชกัญชาที่ต้องระวัง
โดยปกติแล้ว เราจะมีภาพความทรงจำว่า กัญชานั้นเป็นสิ่งที่ต้องใช้สำหรับสูบหรือกลั่นมาใช้โดยตรง แต่ในตอนนี้เมื่อกัญชาถูกเปิดให้ใช้เสรีมากขึ้น จึงถูกนำมาประกอบในอาหารเพิ่มขึ้นโดยที่บางครั้ง สัดส่วนการผสม หรือส่วนของพืชกัญชานั้น ยังอาจส่งผลอันตรายอยู่ไม่มากก็น้อยกับระบบประสาท หากไม่ใช่การทานเพื่อรักษาร่างกาย ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่เองก็ต้องรู้ไว้ไม่เสียหาย สำหรับการถามไถ่ตามร้านอาหารที่มีส่วนผสมของกัญชา ทั้งนี้ก็เพื่อความปลอดภัยของตนเอง และคนในครอบครัวเองด้วย
ส่วนที่ห้ามนำมาใช้ เป็นสารเสพติด
- ดอกของกัญชา
- เมล็ดของกัญชา
ส่วนที่นำมาใช้ได้ ไม่ใช่สารเสพติด
- เปลือกต้นกัญชา
- ลำต้นกัญชา
- ใบกัญชา
- รากของกัญชา
หากรู้แบบนี้เรา เราจึงควรดูให้ชัดเจนค่ะ ว่าหากเจอร้านไหนมีส่วนประกอบของกัญชานั้น อย่างแรกคือไม่ซื้อให้เด็กๆ ในบ้านทาน และหากเห็นว่าส่วนที่นำมาประกอบอาหารนั้นเป็นส่วนที่ไม่ควร ก็จะช่วยให้เราหลีกเลี่ยงได้ดีมากยิ่งขึ้นทั้งตนเอง และคนที่เรารัก
อย่างไรในยุคนี้แม้ว่ากัญชาจะถูกปลดให้เสรีมากขึ้นในการใช้ แต่ผู้ปกครองแบบเราก็ยังต้องระวังให้มากเพราะ กัญชายังคงเป็นสิ่งที่ไม่เหมาะกับเด็กที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะค่ะ หรือแม้จะบรรลุนิติภาวะแล้ว เราเองก็ยังคงต้องคอยให้คำแนะนำ และช่วยเหลืออยู่ตลอดเมื่อลูกอยู่ในวัยที่อยากรู้ และอยากลอง มาร่วมปกป้องคนที่เรารักไปด้วยกันนะคะ!
ที่มา https://www.bangkokbiznews.com/health/1009751 , http://www.ttmic.co.th/%E0%B8%81%E0%B8%B1%E0%B8%8D%E0%B8%8A%E0%B8%B2-%E0%B8%81%E0%B8%B1%E0%B8%8D%E0%B8%8A%E0%B8%87%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B8%9C%E0%B8%A5%E0%B8%B4%E0%B8%95%E0%B9%83%E0%B8%99%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0/ , https://www.hfocus.org/content/2022/06/25280 , https://thestandard.co/key-messages-children-youth-and-cannabis-consumption/