หากลูกมีพฤติกรรมเกรเร ก้าวร้าวผิดปกติอาจเสี่ยงเป็นโรคทางพฤติกรรมชนิดหนึ่งของเด็กเรียกว่า โรคพฤติกรรมเกเรก้าวร้าว (conduct disorder) ไม่ใช่การพัฒนาความกล้าแสดงออกของเด็กปกติทั่วๆ ไป พ่อแม่จึงต้องคอยสังเกตพฤติกรรมลูกให้ดี
นาวาอากาศตรีนายแพทย์บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต ให้สัมภาษณ์ถึงปัญหาใหญ่ที่พบได้บ่อยในเด็กวัยเรียนและวัยรุ่นขณะนี้คือความก้าวร้าว เกเรรุนแรง จากผลสำรวจของกรมสุขภาพจิตล่าสุดในปี 2559 พบวัยเรียนอายุ 13-17 ปี เป็นโรคพฤติกรรมเกเรก้าวร้าว 1.5 แสนคนทั่วประเทศ
พฤติกรรมก้าวร้าวอย่างการโต้เถียงผู้ใหญ่สามารถพบได้ในเด็กทั่วไป เมื่อโตขึ้นจะลดพฤติกรรมเหล่านี้ลงเรื่อยๆ แต่การทำร้ายคนอื่น ทำลายทรัพย์สิน ทำร้ายหรือทรมานสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ฉ้อโกงหรือขโมย ละเมิดกฎอย่างรุนแรงเช่นหนีออกจากบ้าน หนีโรงเรียน อาจเข้าข่ายว่ามีพฤติกรรมเกเรก้าวร้าวรุนแรง โดยเด็กผู้ชายมักเป็นในช่วงอายุ 10-12 ปี ผู้หญิงจะเป็นในช่วงอายุ 14-16 ปี
ส่วนสาเหตุที่ทำให้เด็กก้าวร้าวมีหลายปัจจัย ส่วนหนึ่งมาจากพื้นฐานของเด็กที่เป็นเด็กเลี้ยงยาก เจ้าอารมณ์ ซึ่งมีประมาณร้อยละ 15 หรืออาจเกิดจากความผิดปกติของสารเคมีในสมอง เช่นเด็กที่เป็นโรคสมาธิสั้น โรคออทิสติก โรคซึมเศร้า และสมองพิการ หรือมาจากสภาพสังคมสิ่งแวดล้อม แต่ปัจจัยที่สำคัญที่สุดมาจากครอบครัวและการเลี้ยงดู
การเลี้ยงดูที่ทำให้เด็กมีพฤติกรรมก้าวร้าวมี 7 รูปแบบ ได้แก่
- เลี้ยงแบบทอดทิ้งไม่เอาใจใส่ดูแล
- ใช้วิธีลงโทษเด็กรุนแรง
- เลี้ยงแบบตามใจเด็ก เพราะกลัวเด็กไม่รัก
- ครอบครัวมีการทะเลาะวิวาท ด่าทอ ตบตีกันให้เด็กเห็นบ่อยๆ
- ชอบแหย่เด็กหรือยั่วยุอารมณ์ให้เด็กโมโห
- การเลี้ยงดูเด็กที่ขาดการจัดระเบียบวินัยความเป็นอยู่ในชีวิตประจำวัน
- การให้ท้ายเด็กเมื่อทำผิด ทำให้เด็กคิดว่าเรื่องผิดเป็นเรื่องถูกต้อง
โรคนี้หากปล่อยไว้ เมื่อเด็กโตขึ้นกว่าร้อยละ 40 อาจทำให้เป็นนักเลงอันธพาลได้ และนำมาสู่ปัญหาอื่นๆ ตามมา เช่น เกิดความขัดแย้งในครอบครัว ปัญหาการเรียน ปัญหายาเสพติด และพฤติกรรมทางเพศก่อนวัยอันควร
ดังนั้นหากพบว่าลูกมีความเสี่ยง ควรพาไปพบแพทย์ที่สถานพยาบาลใกล้บ้าน หรือโทรปรึกษาสายด่วนสุขภาพจิต 1323 ฟรีตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อหาสาเหตุและแก้ไขปัญหาเหล่านี้ตั้งแต่ในระยะแรก ซึ่งมีความจำเป็นมาก เพราะจะช่วยลดความรุนแรงที่จะเกิดขึ้น
อ้างอิงจาก