Parents One

โรคคาวาซากิ โรคร้ายในเด็กเล็กที่พ่อแม่ต้องระวัง

“โรคคาวาซากิ” เป็นโรคที่พบในเด็กเล็ก ตั้งแต่อายุเป็นเดือนๆ ไปจนถึง 2 ขวบ หรือมากสุดไม่เกิน 5 ขวบ เป็นภาวะที่มีการอักเสบเฉียบพลันของหลอดเลือดแดง เกิดการแทรกซ้อนของหลอดเลือดหัวใจโป่งพอง ตามด้วยการอุดตัน และนำไปสู่กล้ามเนื้อหัวใจตาย หากไม่ได้รับการวินิจฉัยที่ถูกต้อง และรักษาอย่างทันท่วงที อาจทำให้คนไข้เสียชีวิตได้ จึงเป็นโรคที่คุณพ่อคุณแม่ต้องระวังเป็นพิเศษนั่นเอง

สาเหตุของโรค

1. การติดเชื้อ ในอากาศบางชนิด เป็นตัวชักนำให้เกิดโรค ซึ่งเชื้อตัวนี้อาจจะเป็นเชื้อเฉพาะที่ยังค้นไม่พบ หรือเป็นเชื้อที่มีอยู่ในบรรยากาศทั่วๆ ไปก็ได้ เป็นเพียงตัวการเริ่มต้นที่ทำให้เด็กป่วยเท่านั้นเอง

2. ภูมิต้านทานของเด็ก ในเด็กเล็ก การตอบสนองเรื่องภูมิต้านทานของเขายังไม่ลงตัว หากมีการติดเชื้อมากระตุ้น ร่างกายก็จะสร้างภูมิต้านทานขึ้นมา ซึ่งบางครั้งก็สร้างมามากเกินไป จนทำให้ย้อนมาทำร้ายตัวเอง

3. พันธุกรรม ร่างกายของเด็กคนนั้น มีความพร้อมที่จะเป็นโรคนี้โดยพันธุกรรม โดยเฉพาะเด็กชาวญี่ปุ่น มีความพร้อมที่จะเป็นโรคนี้มากที่สุด ในเด็ก 100,000 คน มีโอกาสจะเป็นโรคนี้สูงถึง 265 คน แต่สำหรับในประเทศไทย มีโอกาสจะเป็นเพียง 15 คนเท่านั้น

อาการของโรค

1. เด็กจะมีไข้สูงแบบเฉียบพลัน จะไม่ใช่ค่อยๆ สูงขึ้น ซึ่งไข้จะสูงมากถึง 39-40 องศาเซลเซียส และมีไข้มาแล้วอย่างน้อย 5 วัน

2. ตาแดง เยื่อบุตาขาวทั้งสองข้างจะแดง ไม่แฉะ ไม่มีขี้ตา เป็นหลังมีไข้ประมาณ 1-2 วัน และเป็นอยู่นานประมาณ 1-2 สัปดาห์

3. มีการเปลี่ยนแปลงของริมฝีปากและในช่องปาก คือ ริมฝีปากแห้ง แดงแตก ลิ้นเป็นตุ่มนูนและแดงเหมือนผิวสตรอว์เบอร์รี่ (Strawbery tongue) โดยจะเป็นอยู่ประมาณ 1-2 สัปดาห์ค่ะ

4. การเปลี่ยนแปลงของมือและเท้า ในระยะแรกจะพบฝ่ามือ ฝ่าเท้าแดงหรือบวม ในระยะหลังประมาณวันที่ 12 ของโรค อาจพบการลอกของผิวหนังซึ่งจะเริ่มต้นที่บริเวณปลายนิ้วมือและนิ้วเท้า และสามารถลามไปที่ฝ่ามือฝ่าเท้า บางรายอาจเล็บหลุดได้ บางราย 1-2 เดือนจะมีรอยขวางที่เล็บค่ะ

5. มีผื่นขึ้นตามร่างกาย มักเกิดหลังมีไข้ 1-2 วัน ซึ่งมีได้หลายแบบ เช่น เป็นจุดแดงๆ เล็กๆ ทั่วตัว หรือเป็นผื่นแดงๆ เล็กๆ เหมือนหัดก็ได้ บางคนเป็นผื่นนูนใหญ่ๆ คล้ายลมพิษ

6. ต่อมน้ำเหลืองบริเวณคอโต ส่วนใหญ่จะโตข้างเดียว มีขนาดใหญ่พอสมควรคือมากกว่า 1.5 ซม. อาจจะมีอาการแดงของผิวหนังบริเวณที่ต่อมน้ำเหลืองโตร่วมด้วย พบประมาณร้อยละ 50-70 ของผู้ป่วย

การรักษาโรค

1. ให้สารภูมิคุ้มกันที่เรียกว่า “Intravenous immunoglobulin, IVIG”  ซึ่งสกัดมาจากน้ำเหลืองของผู้ใหญ่ที่มีความแข็งแรง ยาตัวนี้จะช่วยลดการอักเสบของหลอดเลือดเลี้ยงหัวใจ และป้องกันภาวะแทรกซ้อนโป่งพอง รวมทั้งรักษาให้อาการทั้งหมดดีขึ้นจนหาย

2. ให้ยาแอสไพรินขนาดสูง ขณะที่นอนโรงพยาบาล เพื่อลดการอักเสบ ส่วนตอนกลับบ้านจะให้กินในขนาดต่ำ เพื่อป้องกันไม่ให้เกล็ดเลือดอุดตันหลอดเลือดหัวใจได้อีก ทั้งนี้จะต้องกินยาแอสไพรินต่อเนื่อง 8 สัปดาห์ จึงจะได้ผลการรักษาที่ดี

แม้ว่าโรคนี้จะพบไม่บ่อยนักในประเทศไทย แต่ด้วยสภาวะอากาศของบ้านเราที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เดี๋ยวร้อน เดี๋ยวฝนตก ทำให้เด็กๆ ไม่สบายกันได้ง่าย หากพบว่าลูกหลานของท่านมีอาการของโรคคาวาซากิ ควรรีบพาไปพบแพทย์เพื่อหาทางรักษาทันที

ที่มา :