Parents One

แนวคิดญี่ปุ่น “เลี้ยงลูกแบบการปลูกต้นไม้”

หากให้พูดถึงประเทศที่พัฒนาแล้วก็คงจะไม่มีใครไม่รู้จักประเทศแห่งแดนอุทัยทิพย์หรือประเทศญี่ปุ่น ประเทศที่ได้ขึ้นชื่อว่าดูแลบุตรหลานและพัฒนาบุคคลให้รู้จักรับผิดชอบหน้าที่ของคนดีเป็นอันดับต้นๆของแถบเอเชียซึ่งหัวใจหลักที่น่าสนใจในการอบรมสั่งสอนนี้คือแนวคิด ” เลี้ยงลูกแบบการปลูกต้นไม้ ” ซึ่งแนวคิดนี้จะมีอะไรบ้างเป็นส่วนประกอบสำคัญที่ทำให้เด็กญี่ปุ่นสามารถเติบโตมาได้อย่างมีคุณภาพและดูแลตัวเองได้เป็นอย่างดี

ทางParents one จะมาบอกต่อถึงแนวคิดนี้เผื่อจะเป็นประโยชน์ต่อการรนำกลับไปเป็นแนวทางในการเลี้ยงดูบุตรที่บ้านค่ะ

1.เมล็ดต้องมีฐานดินที่ “มั่นคง”

การมีลูกของคนญี่ปุ่นนั้นมักจะต้องปูพื้นฐานให้แน่นเสมอเหมือนการเตรียมดินหรือกระถางเพื่อรองรับกับต้นอ่อนหรือยอดเมล็ดพันธุ์มาลงปลูกเพราะหากจะให้ต้นไม้เติบโตมาอย่างงดงามแล้ว รากฐานที่จะใช้รองรับนั้นย่อมต้องแข็งแกร่งแล้วมั่นใจได้ว่าเมื่อสิ่งมีชีวิตนี้ได้ฝากฝังชีวิตลงมาแล้วในผืนดินอันร่วมซุย เขาจะเติบโตขึ้นมาได้อย่างสบายไร้ปัญหาโดยมีกระถางหรือชั้นดินที่เปรียบเสมือนพ่อแม่ค้ำชูไว้

2. ดูแลเมล็ดน้อยอย่าง “ใจเย็น”

เป็นปกติของการรอคอยอะไรสักอย่างที่มักต้องการพบเห็นผลที่เติบโตทันใจแต่กับการปลูกต้นไม้นั้นต้องใช้เวลาในการปล่อยให้เขาเติบโต แม้จะยังไม่เห็นยอดที่โผล่พ้นดินหรือไม่สามารถรับรู้ได้ว่าหน้าตาของต้นยอดที่จะขึ้นมาชูหาแสงนั้นเป็นเช่นไร เราก็จะยังคอยรดน้ำและพาออกไปรับแสงแดดอยู่เป็นประจำเพื่อส่งเสริมให้เมล็ดเติบโตเป็นต้นอ่อนที่สมบูรณ์ที่สุดซึ่งก็ไม่ต่างอะไรเลยกับการตั้งครรภ์ของคุณแม่ที่ต้องรอคอยและใช้ความอดทนมากๆในการหล่อเลี้ยงอีกหนึ่งชีวิตให้เกิดมาครบ 32 อย่างไร้กังวล

3. ยอดอ่อนต้องการ “การเอาใจใส่”

ช่วงเติบโตของต้นอ่อนนั้นค่อนข้างเปราะบางแล้วเป็นไปได้ที่จะล้มหรือเน่าเสียไปก่อนได้กลายเป็นต้นไม้ต้นใหญ่ ดังนั้นในช่วงที่ยังเป็นต้นอ่อนอยู่จึงต้องมักได้รับการเอาใส่ใจที่สม่ำเสมอและให้ความสำคัญกับทุกความเปลี่ยนแปลงเช่นการสังเกตว่าชอบน้ำชุ่มหรือละอองน้ำมากกว่ากัน, เติบโตง่ายในที่ร่มหรือชอบยื่นยอดเข้าหาแสงหรือแม้แต่ขนาดกระถางที่ขับหรืออึดอัดไปต้องทำการเปลี่ยนหรือเปล่า

ทุกสิ่งนั้นต้องได้รับการดูแลอย่างเหมาะสมดั่งเช่นคุณแม่และคุณพ่อคอยเฝ้าเอาใจใส่กับเจ้าตัวน้อยที่พึ่งลืมตาดูโลกว่าชอบหรือไม่ชอบอะไร, ถนัดไม่ถนัดสิ่งไหนแล้วมอบแต่สิ่งดีๆที่ลูกต้องการให้เสมอดั่งการรดน้ำ,พรวนดินที่ต้องไม่ขาดตกบกพร่องในช่วงระยะเจริญเติบโตเริ่มแรก

4. ยอดใบชูขึ้นฟ้าต้อง “ไม่ควบคุม” จนเกินไป

ต้นไม้คือสิ่งมีชีวิตที่เราไม่สามารถควบคุมการเจริญเติบโตของเขาได้ว่าจะแตกสิ่งก้านสาขาไปในทิศทางไหน ไม่สามาถตีกรอบให้เขาแล้วเขาเป็นไปตามได้ดั่งใจทุกกิ่งก้าน การค้ำจุนจึงทำได้เพียงสร้างไม้ค้ำยันไว้ไม่ให้ต้นล้มหรือเอียงไปเกินกว่าที่ควร เมื่อเปรียบเทียบแล้วจึงทำให้เราได้เห็นภาพอย่างชัดเจนกับการที่พ่อแม่เฝ้ามองลูกเติบโต เขาจะต้องไม่ถูกบังคับหรือบีบคั้นจนเกินไป คนเป็นพ่อแม่จะทำเพียงกรอบขนาดใหญ่ที่ล้อมไว้เพื่อปกป้องลูกแทนที่จะสั่งให้หันซ้ายหันขวาอย่างทันทีโดยไม่ให้อิสระทางความคิดกับลูกเพราะแบบนี้จึงทำเหล่าเด็กๆมีการเติบโตอย่างอิสระและคิดอ่านเองได้อย่างเต็มที่

5. เมื่อเติบใหญ่จนแผ่ร่มเงาไปไกล ต้นไม้ต้อง “ยืนหยัด” ด้วยรากของตน

ไม่มีต้นไม้ต้นใดเติบโตแล้วย้อนกลับไปเป็นเมล็ดใหม่มีแต่จะสรรค์สร้างเมล็ดให้ก่อเกิดต้นไม้ต้นใหม่ขึ้นมาอีกนับสิบต้นในอนาคต ต้นไม้ไม่หวนกลับไปเป็นเมล็ดเช่นใด ลูกในอ้อมอกก็ไม่กลับมาเป็นเด็กน้อยในอ้อมกอดแล้วเช่นกัน คนเป็นพ่อแม่จะพึงระลึกเสมอว่าสักวันลูกของเขาจะต้องเติบโตไปสร้างอนาคตใหม่และมีชีวิตเป็นของตนเองทำให้สิ่งที่พ่อแม่ให้ความสำคัญคือการดูแลรากฐานชีวิตของลูกให้เป็นอย่างดีเพราะเมื่อเติบใหญ่ไปแล้วก็ให้ใช้ชีวิตต่อไปโดยไม่ต้องพึ่งพาใคร

อยู่รอดได้ด้วยตน ยืนได้ด้วยขาทั้งสองข้าง เข้มแข็งให้ได้ดั่งต้นไม้ที่มีรากอันแข็งแกร่งซึ่งพ่อแม่เป็นคนช่วยรดน้ำ, พรวนดินจนสามารถแตกสาขาหยั่งลึกในชั้นดินและเมื่อถึงตอนนั้นต้นไม้ต้นใหญ่ก็ต้องสูงขึ้นใหญ่ขึ้นด้วยตัวเอง

เป็นอย่างไรบ้างคะแนวคิดการเลี้ยงดูลูกเหมือนการปลูกต้นไม้ของชาวญี่ปุ่น หวังว่าการนำข้อมูลในส่วนนี้มานำเสนอจะทำให้คุณพ่อคุณแม่มือใหม่ที่กำลังต้องการปูหนทางชีวิตให้ลูกน้อยที่ลงหว่านเมล็ดหรือกำลังรดน้ำให้เจ้ายอดอ่อนชูช่อน่าจะได้รับประโยชน์ไปไม่มากก็น้อยนะคะกับบทความนี้

ที่มา : readthecloud marumura