อาการบางอย่างที่เกิดกับลูกน้อยถือได้ว่าเป็นสัญญาณอันตรายที่คุณแม่นั้นไม่ควรที่จะมองข้ามเลย จะมีอะไรบ้างนั้น มาดูกันเลยค่ะ
ดูซึมกว่าปกติ
จากที่เคยสนุกสนาน ซุกซน ชอบวิ่งเล่น ก็เริ่มมีอาการซึม เครียด และไม่ร่าเริงเหมือนแต่ก่อน อาการแบบนี้ไม่ควรนิ่งนอนใจเลยนะคะ ยิ่งในเด็กเล็กแล้ว การบอกเรื่องความไม่สบายตัวออกมาให้รับรู้แทบจะเป็นไปไม่ได้เลย ทางที่ดีควรรีบพาไปพบแพทย์เพราะบางทีอาจมีเรื่องบางอย่างเกิดขึ้นกับลูกได้ค่ะ
มีไข้สูง/ไข้นานติดต่อกัน 3 วันขึ้นไป
หากลูกเริ่มมีไข้สูงเกินกว่าอุณหภูมิปกติ หรือมีไข้ติดต่อกันนานเกิน 3 วัน คุณแม่ควรรีบพาไปหาหมอเพราะอาจเป็นอาการของโรคบางอย่าง อย่าคิดว่าเป็นไข้เดี๋ยวก็หายเองได้ค่ะ
ปวดหัว เจ็บคอ มีผื่นขึ้นตอนเป็นไข้
หากลูกมีอาการอื่นในตอนที่มีไข้ เช่น ปวดหัว เจ็บคอ มีผื่นขึ้นตามตัวมีอาการบวมแดง หายใจไม่ออกหรือมีตุ่มขึ้นตามตัว คุณแม่ควรรีบพาลูกกไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยอาการและทำการรักษาต่อไปนะคะ
ปวดท้องกะทันหัน
อาการปวดท้องกะทันหันของลูกน้อยอาจเกิดจากหลายสาเหตุ หากมีอาเจียนร่วมด้วยอาจเกิดจากกระเพาะอาหารอักเสบก็เป็นได้ แต่ไม่ว่าจะปวดแบบไหน คุณแม่ควรรีบพาลูกไปพบแพทย์เพื่อทำการรักษาโดยเร็วค่ะ
ปากแห้ง อาเจียน ท้องเสีย
เมื่อลูกเริ่มมีอาการปากแห้ง อาเจียน ท้องเสีย หรืออ่อนเพลียมาก อาจเกิดจากอาการขาดน้ำ หรือโรคร้ายแรงบางอย่างได้ เมื่อพบอาการแบบนี้คุณแม่อย่ามองข้ามควรรีบนำเด็กไปพบแพทย์ในทันทีค่ะ
น้ำมูกไหล เบื่ออาหาร
การที่ลูกนั้นมีน้ำมูกไหลออกมาพร้อมมีอาการเบื่ออาหารนั้น อาจจะเป็นโรคไข้หวัดใหญ่ก็เป็นได้ คุณแม่สามารถสังเกตอาการที่แตกต่างจากไข้หวัดธรรมดาได้จากที่ลูกอ่อนเพลีย ไอถี่หนัก มีไข้ มีน้ำมูก กระสับกระส่าย เบื่ออาหาร เบื้องต้นสามารถรักษาที่บ้านด้วยให้ยาลดไข้ทุก 6 ชั่วโมง ให้พักผ่อนเยอะๆ แต่ถ้าไอมาก ไข้ไม่ลด และมีอาการหอบร่วมด้วย ให้พามาพบแพทย์ และให้ลูกฉีดวัคซีนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกัน โดยเฉพาะเด็กอายุ 6 เดือน – 5 ปี ที่เสี่ยงต่อการเป็นไข้หวัดใหญ่รุนแรงค่ะ
ผิวซีดกว่าปกติ
ถ้าลูกผิวซีดกว่าปกติ อาจจะเป็นโรคซีด หรือโรคโลหิตจางเป็นภัยเงียบที่อันตราย เพราะมีผลต่อพัฒนาการของลูกอย่างมาก ทั้งเติบโตช้า และมีไอคิวเฉลี่ยต่ำกว่าเด็กที่ไม่เป็น ฉะนั้นคุณแม่อย่านิ่งนอนใจ คอยเช็กอาการผิดปกติของลูกน้อย สังเกตผิวเปลือกตา และริมฝีปากว่าเริ่มจะซีด ไม่มีเลือดฝาดหรือเปล่า เป็นลม หน้ามืดง่ายมั้ย ถ้ามีอาการเหล่านี้ควรไปพบแพทย์เพื่อให้ตรวจอย่างละเอียดค่ะ
อย่าลืมหมั่นสังเกตอาการผิดปกติของลูกอย่างสม่ำเสมอ การสังเกตอาการของลูกจะทำให้เราเห็นความผิดปกติชัดเจนยิ่งขึ้น และสามารถพาไปพบแพทย์ได้อย่างทันท่วงทีค่ะ
ที่มา