Parents One

เข้าใจธรรมชาติของลูกด้วยทฤษฎีพัฒนาการทางสติปัญญาตามช่วงวัยของเพียเจต์

ทำไมเราจึงไม่ควรเร่งรัดลูกให้เร็วกว่าพัฒนาการที่ควรจะเป็น? นั่นเป็นเพราะว่าพัฒนาการทางสติปัญญาของเด็ก มีการพัฒนาตามวัยเป็นลำดับขั้น และเป็นไปตามธรรมชาติ ซึ่งการเร่งรัดจะทำให้เกิดผลเสียแก่ตัวของเด็กมากกว่า แต่เราสามารถพัฒนาสติปัญญาของลูกให้เหมาะสมตามแต่ละวัยได้ หากเข้าใจธรรมชาติและพัฒนาการตามวัย ด้วยทฤษฎีพัฒนาการทางสติปัญญาของเพียเจต์ค่ะ

เพียเจต์ (Jean Piaget) เป็นนักจิตวิทยาชาวสวิสเซอร์แลนด์ เป็นผู้เชี่ยวชาญในทฤษฎีพัฒนาการทางด้านสติปัญญา เขากล่าวว่าเด็กจะสร้างความรู้หรือพัฒนาสติปัญญาผ่านการปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อม และมีพัฒนาการทางสติปัญญาตามช่วงวัยด้วยกันทั้งหมด 4 ขั้น

โดยกระบวนการทางสติปัญญาของเด็กจะเกิดขึ้นจากการปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมอยู่ 2 แบบ คือ การซึมซับประสบการณ์ (Assimilation) และการปรับโครงสร้างสติปัญญา (Accommodation) ตามสภาพแวดล้อมเพื่อให้เกิดความสมดุลในความคิดความเข้าใจ (Equilibration) อธิบายง่ายๆ คือ เด็กๆ จะซึมซับประสบการณ์ที่เขาได้รับ แล้วมารวมเข้าด้วยกันเพื่อทำให้เกิดกระบวนการคิดเกิดขึ้น มีการเชื่อมโยงระหว่างเรื่องเก่าที่เคยเรียนรู้มา ผสมกับเรื่องใหม่เข้าด้วยกัน ซึ่งเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องจนทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในความคิดและความเข้าใจของเด็กนั่นเองค่ะ

เช่น แรกเริ่มที่เด็กได้รับของเล่นที่เป็นแท่งแม่เหล็กมา สิ่งแรกที่เขาจะทำกับแท่งแม่เหล็กนั้น คือ การกัดหรือเขย่า เพราะของเล่นที่เขาเคยได้รับมักจะเล่นในลักษณะนี้ แบบนี้เรียกว่าการซึมซับประสบการณ์ พอเห็นว่าการเล่นแบบนี้ไม่ถูก เขาก็จะค่อยๆ ทดลองหาวิธีเล่นที่ถูกต้องไปเรื่อยๆ จนพบว่าแท่งแม่เหล็กสามารถดูดของบางอย่างได้ เด็กก็จะค่อยๆ ปรับความคิดว่าของเล่นอันนั้นไม่ได้มีไว้กัดหรือเคาะ แต่มีไว้ดูดสิ่งต่างๆ นั่นคือการปรับโครงสร้างสติปัญญาให้เหมาะสมจากการใช้ประสบการณ์เดิมมาเข้าร่วม

สำหรับพัฒนาการทางสติปัญญาแบ่งออกเป็น 4 ขั้น ได้แก่

ขั้นของการใช้ประสาทสัมผัสและกล้ามเนื้อ (Sensorimotor Stage)

ช่วงอายุแรกเกิด – 2 ขวบ คือ ระยะที่ 1 เรียกว่า ขั้นของการใช้ประสาทสัมผัสและกล้ามเนื้อ (Sensorimotor Stage) พฤติกรรมของเด็กในวัยนี้ขึ้นอยู่กับการเคลื่อนไหวเป็นส่วนใหญ่ เช่น การไขว่คว้า การเคลื่อนไหว การมอง การดู เด็กจะพัฒนาการแก้ปัญหาโดยไม่ต้องใช้ภาษาเป็นสื่อ เพราะจะแสดงออกในรูปของการการกระทำแทน เป็นช่วงเริ่มต้นที่จะเรียนรู้ในการปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อม  เด็กมักจะทำอะไรซ้ำบ่อยๆ ซึ่งเกิดจากการเลียนแบบ และจะพยายามแก้ปัญหาแบบลองผิดลองถูกด้วยตัวเอง ดังนั้น การให้ลูกได้ลองทำอะไรด้วยตัวเองจะเป็นการพัฒนาสติปัญญาของเด็กวัยนี้

ขั้นเตรียมความคิดที่มีเหตุผล (Preoperational Stage)

ช่วงอายุ 2-7 ปี คือ ระยะที่ 2 เรียกว่า ขั้นเตรียมความคิดที่มีเหตุผล หรือการคิดก่อนปฏิบัติการ (Preoperational Stage) พัฒนาการเชาว์ปัญญาของเด็กวัยนี้เน้นไปที่การเรียนรู้ และเริ่มมีพัฒนาการทางภาษาดีขึ้นด้วย โดยสามารถพูดได้เป็นประโยค มีการสร้างคำได้มากขึ้น แต่เด็กยังไม่สามารถใช้สติปัญญาคิดได้อย่างเต็มที่ แบ่งได้เป็น 2 ช่วง คือ

การเล่นสำหรับเด็กวัยนี้คือ รูปแบบการเล่นที่มีกฎเกณฑ์และขั้นตอนเข้ามาเกี่ยวข้อง รวมไปถึงการเล่นบทบาทสมมติที่มีเรื่องราว ที่สอดคล้องกันอย่างมีเหตุมีผล

ขั้นคิดอย่างมีเหตุผลและเป็นรูปธรรม (Concrete Operation Stage)

ช่วงอายุ 7-11 ขวบ คือ ระยะที่ 3 เรียกว่า ขั้นคิดอย่างมีเหตุผลและเป็นรูปธรรม (Concrete Operation Stage) เด็กในวัยนี้จะสามารถใช้เหตุผลในการตัดสินใจปัญหาต่างๆ ได้ดีขึ้น มีพัฒนาการทางด้านสติปัญญาหลายด้าน คือ สามารถสร้างจินตนาการในความคิดของตนขึ้นมาได้ สามารถคิดเปรียบเทียบได้ เรียงลำดับสิ่งต่างๆ ได้ นอกจากนี้ยีงมีความสามารถในการคิดย้อนกลับ สามารถจัดกลุ่มหรือจัดการได้อย่างสมบูรณ์ เช่น การแบ่งแยกประเภทของสัตว์ สามารถสนทนากับบุคคลอื่นและเข้าใจความคิดของผู้อื่นได้ดี ที่สำคัญคือความสามารถในการจำของเด็กในช่วงนี้มีประสิทธิภาพขึ้น 

ขั้นของการคิดอย่างมีเหตุผลและอย่างเป็นนามธรรม (Formal Operation Stage)

ช่วงอายุตั้งแต่ 11 ขวบขึ้นไป คือ ระยะที่ 4 เรียกว่า ขั้นของการคิดอย่างมีเหตุผลและอย่างเป็นนามธรรม (Formal Operation Stage) ในวัยนี้เขาจะไม่คิดจากสิ่งที่เห็นหรือได้ยินเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่จะคิดถึงสิ่งที่เคยเกิดขึ้นในอดีตและคาดเดาถึงอนาคตที่จะเกิดขึ้นข้างหน้า เพื่อให้ได้สมมติฐานที่สมเหตุสมผลมาสนับสนุนความคิด ซึ่งนั่นหมายถึงเด็กจะเริ่มคิดแบบผู้ใหญ่ได้ เข้าใจในสิ่งที่เป็นนามธรรม เป็นตัวของตัวเอง ต้องการอิสระ ไม่ยึดตนเป็นศูนย์กลาง รู้จักการใช้เหตุผลได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ข้อมูลอ้างอิง