แม้การทำอะไรหลาย ๆ อย่างพร้อมกันจะเป็นเรื่องยาก แต่คุณแม่คนเก่งอย่างคุณ ศารณีย์ บุญฤทธิ์ธงไชย Working Mom ผู้เปี่ยมไปด้วยแรงใจ สามารถทำได้ ทั้งในฐานะของผู้บริหาร Google ผู้มีความฝัน และ ในฐานะของคุณแม่ผู้อยากให้ลูกมีความสุข
วันนี้ Parents One ชวนอ่านบทสัมภาษณ์สำหรับคุณแม่ผู้ทำงานหนักถึงทางออกของการบาลานซ์ชีวิตทั้งสองฝั่งนี้อย่างสมดุล รวมถึงทางออกสำหรับการพูดคุยและวิธีการเลี้ยงลูกด้วยความเข้าใจว่ามีอะไรบ้าง
บทบาทการทำงานในฐานะผู้บริหาร Google
ปัจจุบันเป็น Country Marketing Manager ทำหน้าที่ดูแล Marketing ทั้งหมดของประเทศไทย ทั้งภาคธุรกิจและภาคผู้บริโภค อย่าง Youtube และ Search รวมถึงในระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเราอยู่กับ Google มา 8 ปีแล้ว ตั้งแต่ตอนที่ทีม Google มีคนอยู่ประมาณ 30 คน โดยเราดูธุรกิจเกี่ยวกับโฆษณาให้กับธุรกิจขนาดเล็กถึงกลาง ซึ่ง 2 ปีหลังจากเข้ามาทำงานที่ Google เราก็เริ่มตั้งครรภ์
แรงบันดาลใจในการเป็นคุณแม่ ขณะที่หลายคนเริ่มไม่อยากจะมีลูกในยุคนี้
เราคิดว่าโลกตอนนี้มันเปลี่ยนไปแล้ว ซึ่งนิยามความเป็นครอบครัวในปัจจุบันก็มีความหลากหลายมากขึ้น เช่น ครอบครัวที่มีคุณพ่อหรือคุณแม่สองคน ซึ่งแตกต่างกับสมัยก่อนที่ “ความเป็นแม่” คือสิ่งที่ผู้หญิงทุกคนต้องมี
“การมีลูกไม่ได้หมายความว่าเราจะไม่ประสบความสำเร็จ” แต่เราสามารถเติบโตในหน้าที่การงานหรือทำสิ่งที่ชอบพร้อมกับการมีลูกได้ ซึ่งถ้าเราจัดการชีวิตดี ๆ และมีครอบครัวที่เราสามารถตกลงกับเค้าได้ว่า “เราจะเป็นแม่แบบไหน” บางทีเราก็อาจจะทำอะไรได้หลายอย่างเลยก็ได้
วางแผนชีวิตตัวเองในฐานะแม่และ Working Woman คนหนึ่งอย่างไร
ในช่วงเริ่มต้น การที่เราได้รับการสนับสนุนจากบริษัทถือเป็นเรื่องสำคัญมาก เช่น สวัสดิการของ Google ที่สามารถลาคลอดได้ 24 สัปดาห์และสามารถรับเงินเดือนได้ปกติ ทำให้เรามีเวลามากพอที่จะจัดการชีวิตได้อย่างเต็มที่ รวมถึงคุณพ่อหรือคนที่อยู่ในช่วงที่รับเด็กเข้ามาเลี้ยงก็สามารถลาได้ 18 สัปดาห์เช่นกัน
“อย่าเพิ่งคิดไปก่อน ให้ลองปรับเรื่อย ๆ ว่าอะไรดีที่สุด” เป็นแนวคิดที่ทำให้เราตระหนักได้ว่าเราไม่จำเป็นที่ต้องรู้ทั้งหมด แต่เราจะสามารถหาทางออกให้กับมันได้ ซึ่งการมีลูกทำให้เรามีความเห็นอกเห็นใจผู้อื่นมากขึ้น ทำให้เราสามารถเข้าใจปัญหาที่คุณแม่ในทีมต้องเจอได้ ซึ่งใน Google ก็มีหลากหลายสังคมที่เปิดให้คุณแม่ได้คุยกัน เช่น Woman@ ที่สามารถเลือกปรึกษาปัญหากันได้อย่างหลากหลายเช่นกัน
วางสมดุลระหว่างงานและครอบครัวอย่างไร
เราคิดว่าความสุขของเราและครอบครัวเป็นสิ่งที่ต้องก้าวเดินไปพร้อมกัน ซึ่งส่วนตัวแล้วเรามีกิจกรรมเยอะมาก ทั้งจากที่ทำงานหรือโปรเจคส่วนตัวที่จำเป็นต้องทำในช่วงเสาร์-อาทิตย์ ดังนั้น เราจะแบ่งเวลาอย่างเหมาะสมและบอกลูกอย่างชัดเจนว่าเวลาของเค้าคือช่วงไหน เช่น ในหนึ่งอาทิตย์ เราจะส่งลูกนอนประมาณ 4-5 วัน ทำให้เราสามารถออกไปกินข้าวหรือไปทำอะไรได้สองถึงสามวัน ซึ่งช่วงเวลาอ่านหนังสือให้เค้าฟังก่อนนอนเราก็จะวางโทรศัพท์ไว้ที่อื่น ทำให้เค้ารู้ว่านี่คือเวลาของเค้า แล้วหลังจากนั้นเราก็จะไปดูหนังตามความชอบของเราได้โดยไม่รู้สึกผิด
ส่วนอีกเรื่องหนึ่งที่สำคัญ คือ การให้ความสำคัญกับการคาดหวังของลูก เช่น บางครั้งถ้าเราต้องไปต่างประเทศ เราก็จะจัดให้อยู่ในตารางวันธรรมดา เช่น ไปจันทร์เช้า กลับพฤหัสเย็น เมื่อใกล้เวลาเราก็จะบอกลูก รวมถึงบอกประเทศที่เราไป เมื่อเค้าเข้าใจเค้าก็จะไม่ว่าอะไร ซึ่งเราควรคุยกับครอบครัวกันก่อนมีลูกว่าถ้ามีลูกแล้วเราจะแบ่งสัดส่วนชีวิตยังไง จะเป็นแม่แบบไหนที่ไม่สูญเสียตัวตน ซึ่งถ้าเราสามารถรักษาสมดุลตรงนี้ได้ ทุกคนในบ้านก็จะมีความสุข
มุมมองต่อการใช้สื่อออนไลน์สำหรับเด็ก
ด้วยความที่เราทำงานอยู่ Google เราก็จะรู้จักเครื่องมือที่หลากหลาย อย่างสิ่งที่คนมักจะถามเป็นประจำ คือ เราจัดการเวลาใช้หน้าจอของลูกอย่างไร ซึ่งจริง ๆ แล้วเราคิดว่ามันอยู่ที่ว่าเราตกลงกับลูกยังไง เช่น เราจะมีเวลาให้ลูกอยู่หน้าจอแค่เสาร์-อาทิตย์ นอกนั้นจะไม่ได้ ซึ่งจะมีเครื่องมือของ Google เข้ามาช่วย เช่น Youtube Kids ที่มีการคัดสรรเนื้อหาที่เหมาะกับเด็กรวมถึงระบบต่าง ๆ ที่เราสามารถจำกัดเวลาการใช้หน้าจอของลูกได้ หรือ Family Link ที่ช่วยให้เราสามารถติดตามเนื้อหาและแอปพลิเคชันที่ลูกเรามักจะเข้า ด้วยการเชื่อมต่อแอคเคาท์ของเค้าเข้ากับของเราเพื่อควบคุมการเข้าถึงหน้าจอและเนื้อหาต่าง ๆ ได้ โดยนอกจากแอปพลิเคชันแล้ว โปรแกรม Be internet awesome จาก Google เองก็เป็นส่วนช่วยที่สำคัญ ซึ่งเป็นโปรแกรมที่เหมาะกับเด็กอายุ 7-12 ปีขึ้นไป ที่มีวิธีการสอนให้เค้ารู้เท่าทันและไม่ตกเป็นเหยื่อของสื่อออนไลน์ได้อย่างแยบยลผ่านเกมที่เข้าใจง่าย
แนวคิดการสอนลูกให้เข้าใจเรา
เราตั้งกฎที่ชัดเจนให้กับลูกและอ่อนโยนกับลูกในขณะเดียวกัน เช่น เราให้ลูกนอนคนเดียวตั้งแต่ 5 เดือน ซึ่งเราเข้มงวดกับเรื่องนี้มาก แต่ถ้าหากวันไหนเค้าอยากนอนกับเรา เราก็จะบอกเค้าว่าให้เค้านอนเองนะ ถ้าตื่นขึ้นมาแล้วรู้สึกกลัวก็ค่อยเรียก แต่ถ้าไม่ได้รู้สึกกลัวหรือคิดว่าสามารถไปเข้าห้องน้ำเองได้ก็ลองไปคนเดียวดู ถ้าไม่ไหวก็ค่อยเรียกเรา
“ต้องเป็นการตั้งกฎที่พอยอมรับได้” ภายใต้กฎ 3-5 ข้อที่ไม่ได้เยอะ ซึ่งทุกคนในบ้านจำเป็นต้องตกลงร่วมกัน รวมถึงสร้างความเข้าใจให้กับลูกด้วย ถ้าหากเราดุเค้าพร่ำเพรื่อ เค้าก็จะมีความอดทนต่อการถูกดุสูง ดังนั้น เราจึงต้องให้แรงขับเคลื่อนเชิงบวกกับลูกมากกว่าการข่มขู่ แล้วความสัมพันธ์ของเราและลูกก็จะราบรื่น
ส่งท้ายให้คุณแม่ที่ต้องการกำลังใจในการเลี้ยงลูกช่วงโควิด
เราคิดว่าการเป็นแม่เป็นสิ่งที่เราต้องเรียนรู้ในทุก ๆ วัน ซึ่งเราอาจจะเอาตัวเองไปเปรียบเทียบกับคนอื่นว่าถ้าหากเราให้ลูกมากกว่านี้ ถ้าเราสามารถไปรับลูกที่โรงเรียนทุกวันได้ หรือ เข้าร่วมกิจกรรมโรงเรียนกับลูกได้คงจะดีกว่านี้ ดังนั้นเราจึงต้องระลึกไว้ว่า “เราต้องเป็นแม่ที่ดีที่สุดในเวอร์ชั่นของเรา” เพราะเงื่อนไขของแต่ละคนไม่เหมือนกัน ถ้าเราแบ่งเวลาให้ตัวเองและครอบครัวดี ๆ บางทีลูกเราอาจจะมีเราเป็นแบบอย่างในการใช้ชีวิตก็ได้ เพราะเราเชื่อว่ามันไม่สูตรสำเร็จตายตัวว่าแม่แบบไหนคือแม่ที่ดี แต่เราต้องนึกออกว่าดีที่สุดในเวอร์ชั่นของเราเป็นยังไง และสามารถตอบตัวเองได้ว่าเราทำดีที่สุดของเราแล้วหรือยัง