การพาลูกไปหาหมอฟันอาจเป็นปัญหาโลกแตกสำหรับหลายๆ บ้าน เพราะลูกเข้าใจว่าการไปหาหมอฟันจะสร้างความเจ็บปวด และอาจจะมีเรื่องฟันของเรื่องบางลูกที่คุณพ่อคุณแม่มักเข้าใจผิด เช่น ไม่ต้องแปรงฟันก็ได้ ฟันน้ำนมผุไม่เป็นไรเดี๋ยวก็หลุด รวมไปถึงเราควรดูแลฟันของลูกยังไงดี วันนี้เราได้มีโอกาสมาสัมภาษณ์คุณหมอเฮ้าส์ – ทพ.ดร.ธงชัย วชิรโรจน์ไพศาล ทันตแพทย์เด็กเฉพาะทาง เกี่ยวเรื่องฟันของลูกที่คุณพ่อคุณแม่ต้องรู้ จะมีเรื่องอะไรบ้างตามมาดูกันเลยค่ะ
หมอฟันเด็กต่างจากหมอฟันผู้ใหญ่ยังไง ?
คุณหมอเฮ้าส์ : หมอฟันเด็กอาจจะได้เปรียบกว่านิดหน่อยครับ คือหมอฟันเด็กจะได้ฝึกการรักษาเฉพาะด้านสำหรับเด็ก เช่น รักษาโพรงประสาทฟันน้ำนม ทำครอบฟันเด็ก และที่สำคัญก็คือ ส่วนใหญ่หมอฟันเด็กทุกคนจะถูกฝึกมาให้มีจิตวิทยาในการคุยกับเด็ก เข้าใจเด็ก ดังนั้นงานของหมอฟันเด็กไม่ใช่ทำฟันอย่างเดียว แต่ว่าดูแลเขาด้วยครับ
ทำไมต้องพาลูกมาหาหมอฟันตั้งแต่ฟันซี่แรกขึ้น ?
คุณหมอเฮ้าส์ : เราแนะนำให้เด็กๆ มาพบทันตแพทย์ตั้งแต่แรกๆ คือ ตั้งแต่ฟันน้ำนมซี่แรกขึ้นตอนอายุประมาณ 6 เดือน ซึ่ง 6 เดือนคือยังทำฟันไม่ได้นะครับ แต่ถ้ามาแล้วเนี่ยคุณพ่อคุณแม่กับหมอก็จะได้คุยกันเกี่ยวกับวิธีในการดูแลช่องปากของเล็ก เช่น แปรงฟันยังไง กินอาหารยังไง เช็ดฟันยังไง เลิกนมยังไงครับ
บอกลูกยังไงเวลาไปหาหมอฟัน ไม่ควรขู่จริงไหม ?
คุณหมอเฮ้าส์ : ไม่ควรเลยครับ ไม่ควรขู่ลูกว่าถ้าดื้อเดี๋ยวจะพาไปหาหมอฟันเด็ดขาด ขอแนะนำคุณพ่อคุณแม่เตรียมลูกอย่างนี้นะครับ สำหรับเด็กที่จะมาพบหมอฟันครั้งแรก ถ้าพอรู้เรื่องแล้วก็ให้บอกเขาล่วงหน้าว่าจะพามาหาหมอฟันนะ อาจเปิดคลิปวิดีโอ การ์ตูน หรือหนังสือนิทานที่เล่าเรื่องราวเกี่ยวกับการมาหาหมอฟัน เพื่อให้เขารู้สึกว่านี่เป็นเรื่องปกติ แต่เตรียมแค่นิดๆ หน่อยๆ ก็พอนะครับ ไม่ต้องเตรียมเยอะ
อย่างพ่อแม่หลายๆ ท่านก็กังวลมาก แล้วก็เตรียมการไว้เยอะ บอกเลยนะครับว่าถ้าเรากังวลมากๆ มันจะมีพลังงานบางอย่างไปถึงส่งไปลูก อาจทำให้ลูกเริ่มสงสัยว่า เอ๊ มีอะไรพิเศษรึเปล่า เห็นแม่พูดหลายรอบมาก มันต้องมีอะไรน่ากลัวแน่เลย เลยแนะนำให้เตรียมแต่พอดี เพื่อแสดงให้เห็นว่าไม่มีอะไรน่ากลัว ไม่ต้องกังวล แค่ไปหา ไปตรวจฟัน ให้หมอสอนแปรงฟันให้ฟันสะอาด เสร็จแล้วก็กลับบ้าน คือพูดครั้งหรือสองครั้งก็พอครับ
ทำไมเด็กถึงกลัวหมอฟัน ?
คุณหมอเฮ้าส์ : เด็กไม่ได้ตั้งใจกลัวหมอฟันหรอกครับ แต่สิ่งที่เขากลัวคืออะไรที่คาดการณ์ไม่ได้ ดังนั้นหน้าที่ของหมอฟันคือ ต้องทำให้เด็กรู้สึกว่าอันนี้มันปลอดภัย ซึ่งเทคนิคที่หมอฟันเด็กทั่วๆ ไปใช้ เขาเรียกว่า Tell Show Do โดย Tell คือบอกล่วงหน้าว่าจะเกิดอะไรขึ้น เช่น เด็กนั่งตรงนี้ปุ๊บ ลุงหมอจะปรับไดโนเสาร์ให้นอนลงนะครับ แล้วก็เราก็ปรับเก้าอี้ให้นอนลง เด็กก็รู้ล่วงหน้า
ถ้าเด็กกังวลมาก บางทีหมอก็ Show ให้ดูด้วยก่อน คือเขายังไม่ต้องเข้ามานะ เขายืนอยู่ตรงนี้ เราก็ปรับเก้าอี้ว่าขึ้น-ลงได้ ก็ Show ให้เขาดู พอเสร็จปุ๊บก็ตาหนู พอหนูขึ้นมา เราก็ปรับลง ก็จะเป็นบอกล่วงหน้า สาธิตหรือแสดงให้ดู แล้วก็ทำจริง พอเด็กรู้แบบนี้ปุ๊บ เขารู้สึกว่าโลกใบนี้เขามั่นใจ แต่ถ้าเราอยู่ดีๆ จับเขานั่งแล้วก็ปรับเก้าอี้ เขาตกใจ เขาก็ร้องเลย จริงๆ เด็กไม่ได้กลัวทำฟันนะครับ เพียงแต่เราต้องเข้าใจเขาแค่นี้เองครับ
ถ้าเด็กกลัวการทำฟันไปแล้ว จะทำยังไงให้หายกลัว ?
คุณหมอเฮ้าส์ : อันนี้จะยากหน่อยครับ เด็กที่บอบช้ำหรือว่ากลัวการทำฟัน จากการมีประสบการณ์ที่เขาปวดฟันแล้วถูกไปถอนฟันมา หรือมีประสบการณ์ไม่ดีจากการทำฟันจนทำให้กลัวเนี่ยจะยาก สิ่งที่ทำได้ที่ง่ายที่สุดก็คือ สร้างความมั่นใจให้กับเขาว่าสิ่งที่หมอพูดคือเรื่องจริง หมอไม่โกหก
อย่างถ้าเขากลัวหมอฟันมา แต่ว่ารอบนี้ฟันเขายังไม่ได้ผุลึกอะไรมาก สิ่งที่เราทำคือ เราทำงานน้อยๆ ก่อน เช่นวันนี้ ถ้าหนูฟันสะอาดปุ๊บเนี่ย หนูกลับบ้านเลย วันนี้หมอไม่ทำฟันให้หนู ฟันสะอาดแล้วกลับบ้าน เราก็สอนแปรงฟันอะไรไป เสร็จพักนึง เอ้า ตรงนี้ยังไม่สะอาดนะ ลุงหมอมีแปรงสีฟันไฟฟ้ามาช่วยให้หนูฟันสะอาดขึ้น พอขัดเสร็จปุ๊บก็ให้เขากลับบ้านเลย เด็กก็จะรู้สึกมั่นใจ และเชื่อในคุณหมอ
แต่เคยมีเหมือนกันนะครับ ที่พอทำเสร็จแล้วผู้ปกครองบอก “หมอเก่งมากเลย อุดไปสักซี่นึงได้ไหม” อะไรอย่างนี้ สิ่งที่หมอฟันเด็กต้องทำก็คือ บอกคุณแม่ว่า “ใจเย็นๆ” เด็กจะต้องเชื่อถือคำพูดหมอ หมอบอกวันนี้ฟันสะอาดกลับบ้าน ก็คือกลับบ้าน
ฟันน้ำนมผุ ส่งผลเสียต่อเด็กในด้านไหน ?
คุณหมอเฮ้าส์ : ฟันน้ำนมผุที่แย่ที่สุดก็คือมันไปผุในช่วงที่หน่อฟันแท้เริ่มขึ้น นึกภาพอย่างนี้นะครับ คือมีฟันน้ำนมอยู่ด้านบน แล้วในขากรรไกรเรามีฟันแท้กำลังสร้างอยู่ พอมันติดเชื้อลงไปที่หน่อฟันแท้ มันก็ไปรบกวนการสร้างฟันแท้ ซึ่งหลายครังเราพบว่า พอฟันแท้ซี่นี้โผล่ขึ้นมาปุ๊บเนี่ย มันมีการสร้างไม่สมบูรณ์ เป็นน้ำตาลๆ เนื้อฟันกระเทาะหลุดออกไป อันนี้คือข้อเสียที่มันจะส่งผลต่อฟันแท้ มีข้อเสียอื่นๆ เช่น กินอาหารไม่ได้ ปวดฟัน ร้องไห้โยเย และบางคนก็ปวดบวมด้วย
ฟันผุเกิดจากอะไรได้บ้าง ?
คุณหมอเฮ้าส์ : เด็กที่ผุมากๆ ก็คือ กินขนมตลอดเวลา ทุกๆ ครึ่งชั่วโมงก็กิน หรือเด็กที่ดูดนมกลางคืน ตื่นมาหลายรอบแล้วก็ดูดนมขวด อีกเรื่องคืออมข้าว กินข้าวที 2 ชั่วโมง อมข้าวแล้วหวานอะไรแบบนี้ หรือเด็กที่กินขนมบ่อยๆ ถี่ๆ รวมทั้งนมเปรี้ยวด้วยนะครับ
ดูแลลูกยังไงไม่ให้ฟันผุ ?
คุณหมอเฮ้าส์ : จริงๆ เคล็ดลับมีแค่ 2 อย่างครับ หนึ่งก็คือเรื่องแปรงฟันโดยใช้ยาสีฟันฟลูออไรด์ แล้วก็ใช้แปรงแห้ง เช้าและก่อนนอนอย่างน้อย 2 ครั้ง เราสามารถช่วยลดการเกิดฟันผุได้ 25% อันนี้ตามทฤษฎีที่เขาทำงานวิจัยมา พ่อแม่บางคนเข้าใจผิดว่าถ้าแปรงฟันอย่างเดียวฟันจะไม่ผุ แต่แปรงฟันช่วยได้แค่ 25% นะครับ อีก 75% ขึ้นอยู่กับการกิน
หมายความว่าในเด็กโตหน่อยนะ เวลาผมคุยกับพ่อแม่เด็ก ผมใช้คำว่า วันนึงเอาของเข้าปากที่ไม่ใช่น้ำเปล่าเนี่ย 5 ครั้ง อย่างนี้ฟันไม่ผุ เพราะฟันผุ ขึ้นอยู่กับจำนวนครั้งในการกินไม่ใช้ปริมาณ ก็แปลว่า ถ้าลูกอยากกินขนมก็มารวมๆ กัน 2 ครั้ง อีก 3 ครั้งเป็นข้าว ฟันก็จะไม่ผุ เพราะฉะนั้นเคล็ดลับก็คือวันนึงเอาของเข้าปากไม่เกิน 5 ครั้ง อย่างนี้ฟันผุก็ลดลงได้ครับ