ความผูกพันทางอารมณ์เป็นสิ่งที่ช่วยเสริมพัฒนาการด้านการเรียนรู้ของลูก สามารถสร้างให้ลูกมีทั้ง IQ และ EQ ที่สูง ดังนั้นเพื่อให้เด็กเติบโตเป็นคนดีและคนเก่ง จึงชวนพ่อแม่ช่วยกันสร้างความผูกพันทางอารมณ์ที่มั่นคงให้กับลูก ด้วยการ “ใกล้ชิด เข้าใจ ไวในการรับรู้ และตอบสนองอย่างเหมาะสม”
นาวาอากาศตรีนายแพทย์บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ลักษณะการเลี้ยงดูของพ่อแม่ เป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อพัฒนาการ และความฉลาดทางสติปัญญาหรือไอคิวของเด็ก ซึ่งการเลี้ยงดูที่ดีนั้นมีรากฐานมากจากความผูกพันทางอารมณ์ระหว่างพ่อแม่และลูกที่แน่นแฟ้นตั้งแต่ก่อนช่วงปฐมวัย.
โดยเฉพาะในช่วงขวบปีแรกที่จะส่งผลให้เด็กเกิดความรู้สึกมั่นใจและรู้สึกปลอดภัยที่จะทำสิ่งต่างๆ กล้าเรียนรู้ และริเริ่มทำสิ่งใหม่ๆ ถ้าเขามีความผูกพันทางอารมณ์ที่มั่นคงกับพ่อแม่ นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยพบอีกว่า ความผูกพันทางอารมณ์นั้นสัมพันธ์กับระดับสติปัญญา การปรับตัว หากเด็กความความผูกพันทางอารมณ์ที่มั่นคงก็จะช่วยให้เขามีสติปัญญาที่ดีและปรับตัวเก่ง ในทางตรงกันข้าม ถ้ามีความผูกพันที่ไม่มั่นคง เด็กก็จะมีปัญหาแยกตัว ก้าวร้าว และสมาธิไม่ดีได้
แพทย์หญิงมธุรดา สุวรรณโพธิ์ ผู้อำนวยการสถาบันราชานุกูล กล่าวเพิ่มเติมว่า การสร้างความผูกพันทางอารมณ์จะเกิดจากความใกล้ชิดระหว่างลูกและพ่อแม่ หรือผู้เลี้ยงดู โดยการใช้เวลาร่วมกัน พ่อแม่ต้องมีความไวในการรับรู้ถึงความรู้สึก ความต้องการของลูก และตอบสนองต่อลูกอย่างเหมาะสม คงเส้นคงวา และให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ด้วย 8 วิธีดังนี้
- พยายามสังเกตพฤติกรรม ท่าทาง การแสดงออกของลูกว่า ต้องการสื่อสารอะไรกับพ่อแม่ และพยายามแปลการแสดงออกนั้นให้ได้ โดยเฉพาะกับลูกเล็กๆ ที่ยังพูดไม่ได้
- เล่นกับลูกโดยให้ลูกเป็นผู้เลือก และนำเล่น โดยที่พ่อแม่ไม่ขัดจังหวะ วันละอย่างน้อย 15 นาทีต่อวัน
- กำหนดช่วงเวลาในการทำกิจวัตรประจำวันของลูกให้เป็นปกติ สม่ำเสมอในแต่ละวัน
- การสื่อสารด้วยภาษาท่าทางเป็นสิ่งสำคัญ โดยเฉพาะในขวบปีแรก เช่น การมอง การสบตาลูก การกอด การยิ้มให้ การอุ้มเดิน
- การสัมผัส การกอด การอุ้ม เป็นการให้ความอบอุ่นทางใจ โดยเฉพาะเวลาลูกร้องไห้ การอุ้มเป็นการช่วยจัดการอารมณ์ของลูกได้ดี ทำให้ลูกรู้สึกปลอดภัย และสงบลงได้
- ในลูกวัยเตาะแตะ ช่วง 1-3 ขวบ ควรให้อิสระในการเล่น การออกสำรวจ ค้นหา และทดลองทำ ในสิ่งใหม่ๆ โดยพ่อแม่ต้องอยู่ใกล้ๆ เนื่องจากยังต้องการกำลังใจ เพื่อยืนยันว่า การกระทำนั้น สามารถกระทำได้ ปลอดภัย และมั่นใจในการกระทำ ทำให้ลูกกล้าที่จะทดลองทำสิ่งใหม่ได้ด้วยตนเอง
- ในช่วง 6 เดือนแรก ไม่ควรเปลี่ยนคนเลี้ยงบ่อย หรือมีคนเลี้ยงหลายคน ควรมีคนเลี้ยงหลัก เพียงคนเดียว
- ลูกควรมีความผูกพันทางอารมณ์แนบแน่นต่อเนื่องยาวนานกับผู้ใหญ่อย่างน้อย 1 คนในครอบครัว
อ้างอิงจาก